มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ลุ้นทดลองวิ่งชั่วคราว สงกรานต์ 63 นี้
20 ม.ค. 2563, 11:43
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ว่า มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 84,000 ล้านบาท ทั้งหมด 40 ตอน ความคืบหน้าเวลานี้งานโยธาได้ผลงาน 85% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จต้นปี 66 ตามแผน แต่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีนโยบายเร่งรัดให้เปิดใช้งานเต็มรูปแบบในปี 65
“ส่วนอัตราการจัดเก็บค่าผ่านทางใช้ระบบปิด (Closed System) คิดค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง มีวิธีจัดเก็บทั้งแบบเงินสด (Manual Toll Collection : MTC) และแบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection : ETC) ตามประเภทรถ ได้แก่ รถยนต์ 4 ล้อ ค่าผ่านทางแรกเข้า 10 บาท บวกอัตราคิดตามระยะทาง 1.25 บาทต่อ กม. หรือตลอดเส้นทางจากบางปะอิน-นครราชสีมา 240 บาทรถยนต์ 6 ล้อ อัตราแรกเข้า 16 บาท บวก 2 บาทต่อกม. ตลอดเส้นทาง 380 บาท และ รถยนต์มากกว่า 6 ล้อ อัตราแรกเข้า 23 บาท บวก 2.88 บาทต่อ กม. ตลอดเส้นทาง 550 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 129 นาที หรือประมาณ 2 ชม. จากปัจจุบันอยู่ที่ 3-4 ชม. แต่หากเป็นช่วงเทศกาลอาจกินเวลายาวนานนับ10ชม.”
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวอีกว่า เส้นทางนี้ถือเป็นมอเตอร์เวย์สายแรกสู่ภาคอีสาน มีความพิเศษหลายจุด อาทิ เป็นเส้นทางที่สวยที่สุดด้วยทิวทัศน์สองข้างทางช่วงผ่าน อ.ปากช่อง จ. นครราชสีมา และ เขื่อนลำตะคองจะได้สัมผัสธรรมชาติในความสูงของถนนยกระดับที่สูงที่สุดในประเทศไทยด้วยการไต่ระดับจากพื้นราบสูง5 เมตร 10 เมตร 20 และสูงสุดถึง 30 เมตร ช่วงผ่านเขื่อนลำตะคอง จากที่ทล.เปิดใช้มอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง คือ มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 กรุงเทพฯ-พัทยา และ หมายเลข 9 ช่วงบางปะอิน-บางพลี และ ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน ส่วนใหญ่เป็นทางระดับดิน
“ส่วนการก่อสร้างช่วงทางยกระดับประมาณ 18 กม. บนทางหลวงหมายเลข2 หรือถนนมิตรภาพจากบริเวณต.หนองสาหร่าย อ. ปากช่อง จ.นครราชสีมา สิ้นสุดบริเวณ อ. สีคิ้ว จ. นครราชสีมา เสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น กรมฯได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาความพร้อมและความเป็นไปได้ในการเปิดให้ประชาชนทดลองวิ่งบริการชั่วคราวช่วงสงกรานต์เพื่อลดปัญหาติดขัด หากเปิดบริการต้องมีมาตรการรองรับด้านความปลอดภัยทุกด้านไม่ให้มีผลกระทบตามมา”
นายสราวุธ ระบุต่อว่าประกอบกับบริเวณเขื่อนลำตะคองเป็นที่ตั้งของเรือนจำกลางคลองไผ่ พื้นที่สีแดงมีความอ่อนไหวสูงได้ก่อสร้างอุโมงค์ครอบเส้นทางมอเตอร์เวย์ป้องกันไม่ให้ขว้างปาหรือโยนวัตถุใดๆ เข้าเรือนจำ ส่วนบริเวณใกล้เคียงเป็นพื้นที่อ่อนไหวจะก่อสร้างกำแพงกั้นสูงหากจะเปิดบริการต้องพิจารณาว่าก่อสร้างกำแพงกั้นเสร็จทันหรือไม่รวมทั้งทางขึ้น-ทางลงที่ยังไม่เรียบร้อยในบางจุด คาดว่าภายในเดือน มี.ค.63 จะได้ข้อสรุปว่าจะเปิดบริการช่วงเทศกาลสงกรานต์ใช้ระบายรถได้หรือไม่ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบต่อไป
ขณะที่ความคืบหน้าการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงาน และบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) นั้น อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่าเวลานี้ได้เจรจากับกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ นำโดยบริษัทบีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)ร่วมกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดี เวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บมจ. ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทนจากภาครัฐต่ำสุด และได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้วจะทำเอกสารยืนยันตามที่ตกลงกันเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป คาดว่า เดือน ก.พ.62 จะลงนามสัญญากับผู้ชนะใช้เวลาไม่เกิน 3 ปีแล้วเสร็จ
“สำหรับแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา สิ้นสุดบริเวณทางเลี่ยงเมือง จ.นครราชสีมาด้านตะวันตก อ.เมือง จ.นครราชสีมา ตลอดแนวเส้นทางมีทางแยกต่างระดับเชื่อมกับทางหลวงสายสําคัญๆ 10 แห่ง มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 9 แห่ง และมีทางยกระดับดังนี้ ขนาด 6 ช่องช่วง กม.40-กม.47 บริเวณทางเลี่ยงเมืองสระบุรี ขนาด 6 ช่อง ช่วง กม.69-กม.75 บริเวณโรงปูนซีเมนต์ทีพีไอ, ขนาด 6 ช่อง ช่วง กม.82-กม.84 บริเวณองค์การส่งเสริมกิจการโคนม รวมทั้งขนาด 4 ช่อง ช่วง กม.125-กม.143 บริเวณลำตะคอง”