เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"บิ๊กตู่" นั่งหัวโต๊ะ ถกพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้


21 ม.ค. 2563, 13:08



"บิ๊กตู่" นั่งหัวโต๊ะ ถกพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้




วันนี้ ( 21 ม.ค.63 ) เวลา 09.30 น. ณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ. นราธิวาส พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ระหว่างคณะรัฐมนตรีและภาคเอกชนในพื้นที่ ได้แก่ นายกิจก้อง ตันติจรัสวโรดม ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ นายกิตติ หวังธรรมมั่ง ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส  นายตติยะ ฉิมพาลี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก และนายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอและแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี)
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเป้าหมายของการลงพื้นที่ว่า ทำให้สามารถเก็บตกรายละเอียดความต้องการของพี่น้องประชาชน ตรงกับรูปแบบการทำงานแบบตรงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (tailor made) ทั้งการเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการเสริม มาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ และขอชื่นชม รัฐมนตรีทุกท่านที่ได้ลงพื้นที่ไปใน 3 จังหวัด นอกจากจะได้เห็นสภาพที่แท้จริง ยังเพิ่มความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างรัฐกับประชาชนด้วย  ซึ่งการประชุมนอกสถานที่ทุกครั้ง จะทำให้เกิดการจัดลำดับความสำคัญโครงการเร่งด่วน รวมทั้งเกิดโครงการใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของประชาชนที่แท้จริงในปัจจุบัน ทั้งนี้ รัฐบาลต้องใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และยึดหลักกฎหมาย ขอให้รัฐมนตรีทุกคนช่วยกันสื่อสารรูปแบบการทำงานเช่นนี้ให้ประชาชนเข้าใจ และทุกหน่วยที่ทำงานจะต้องรายงานความก้าวหน้าให้ประชาชนทราบเป็นระยะด้วย



โดยในที่ประชุม นายกรัฐมนตรียังเห็นชอบแนวทางการพัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการยกระดับการบริหารจัดการด่านชายแดนทั้ง 9 ด่านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 ด่าน ในคือ ด่านสุไหงโก-ลก ด่านบูเก๊ะตา ซึ่งในอนาคตจะเป็นด่านขนส่งสินค้าหลักเชื่อมไทย-มาเลเซีย และด่านตากใบ รวมทั้ง การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ใน 4 ลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำสุไหงโก-ลก ลุ่มน้ำบางนรา ลุ่มน้ำสายบุรี และลุ่มน้ำปัตตานี ด้วยการสร้างคันกั้นน้ำ ศึกษาการจัดเก็บน้ำ เพื่อเป็นแก้มลิงสำหรับการเกษตรในหน้าแล้ง  โดยนายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้ ศอ.บต. เร่งเสนอแผนยุทธศาสตร์โดยรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน รวมทั้งให้ดูแลการปิด-เปิดด่าน ให้ทำเท่าที่จำเป็น ไม่ให้กระทบต่อการขนส่ง หรือสร้างความเดือดร้อนกับประชาชน รวมทั้งการส่งเสริมการจับคู่ทางธุรกิจทั้งในพื้นที่และระหว่างประเทศ เช่น ตลาดมาเลเซีย ซึ่งย้ำว่าต้องมีมาตรฐานสินค้าอย่างสม่ำเสมอด้วย
 
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังเห็นพ้องกับข้อเสนอภาคเอกชน  2 ประการสำคัญ กล่าวคือ 1. ข้อเสนอเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและการตลาด การส่งเสริมการค้าการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ  ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรมและเมืองท่องเที่ยวชายแดน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสังคมพหุวัฒนธรรม  โดยข้อเสนอ 2. คือ เพื่อสร้างความยั่งยืนและอยู่ดีมีสุขของภาคใต้ชายแดน ประกอบด้วย การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ได้แก่ เกษตร การค้าการลงทุน  การท่องเที่ยว ระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการสร้างความยั่งยืนและอยู่ดีมีสุขของภาคใต้ชายแดน เน้นการบริหารจัดการน้ำ และการยกระดับการบริการสาธารณสุข
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนการปลูกพืชเกษตร แต่ต้องคำนึงถึงดีมานด์-ซับพลายของตลาดด้วย ไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ยางพารา ต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในและต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด  รัฐบาลต้องการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงปศุสัตว์  ให้มีการปฏิรูปการจัดการตลาดกลาง จะช่วยรองรับอุตสาหกรรมสินค้าฮาลาลด้วย ส่วนด้านการค้าและการลงทุนนั้น ปัจจุบันรัฐบาลก็มีมาตรการพิเศษ รวมทั้งการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพื่อสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่แล้ว  สำหรับการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกก็ต้องมีการบริหารจัดการ ด้วยความร่วมมือกับประชาชนเจ้าของที่ดินด้วย


สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรม และเมืองท่องเที่ยวชายแดน -ด้านการท่องเที่ยว นั้น เห็นชอบให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้ โดยขอให้ยึดโยงกับกิจกรรมและประโยชน์ รวมทั้งให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยววิถีประสบการณ์ (Experience Tourism) และการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ โดยภาคใต้มี สังคมพหุวัฒนธรรม
 
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางรถและทางราง อาทิ การเชื่อมยะลา – เบตง – สนามบินเบตง ซึ่งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2563 สนามบินเบตงจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเที่ยวในพื้นที่ และมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น
 
นอกจากนี้ ยังมีการขยายช่องทางจราจรเป็น 4 เลน ในโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินทางเลี่ยงเมือง จังหวัดยะลา การเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 410 และ 4326 ตอนตะบิงติงงี - สนามบินเบตง การพัฒนาเส้นทางเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ – ด่านชายแดน รวมทั้งการบริการรถไฟ ขบวนรถไฟ “ทักษิณารัถย์” ทั้งการเพิ่มระยะทางจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ ไปถึงสถานีสุไหงโก-ลก การเพิ่มจำนวนรถตู้รถไฟ เป็นต้น
 
นายกรัฐมนตรียังเห็นชอบแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งการการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและการระบบน้ำในพื้นที่ชุมชนใน จ.นราธิวาส  และการยกระดับการบริการสาธารณสุข  พัฒนาความเป็นเลิศทางการแพทย์ โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแผนยกระดับ อสม. รวมทั้งจัดทำแผนเพิ่มกรอบอัตรากำลังของบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข
 
นายกรัฐมนตรีย้ำว่าการประชุมนี้ เป็นการหารือระหว่างรัฐกับเอกชน ขอให้ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะรัฐบาลต้องการสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรม โดยเฉพาะการดูแลผู้มีรายได้น้อยเพราะเงินทุกบาทของรัฐบาลมาจากภาษีของประชาชนผู้เสียภาษีทุกคน ต้องมีการบูรณาการงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนปิดการประชุม นายกรัฐมนตรียังกล่าวอวยพรคณะรัฐบาลและผู้แทนภาคประชาชน ในโอกาสตรุษจีน “ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” ด้วย






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.