พัฒนาฝีมือพะเยา ชูดิจิทัลสู่ธุรกิจชุมชนเชียงม่วน นำร่องสอนทำภาพยนตร์สั้นขายผลิตภัณฑ์ชุมชนออนไลน์
23 มิ.ย. 2562, 14:01
วันที่ 23 มิถุนายน 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา ร่วมกับนายบุญชู กมุทมาโนชญ์ รองประธานและเลขาธิการสมาพันธ์ SME ไทยภาคเหนือ ฝึกอาชีพเสริมผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อำเภอเชียงม่วน
สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมเข้าอบรม ได้แก่ ดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงานเพื่อพัฒนาอาชีพในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ หลักสูตรการฝึกอาชีพเสริม 2 สาขา ได้แก่ การทำแผนธุรกิจ บรรจุภัณฑ์และช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาออนไลน์ (30 ชั่วโมง) ณ ศูนย์เรียนรู้ม่อนฟ้าหลวง หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งมอก ต.บ้านมาง และ สาขาการทำแผนธุรกิจ บรรจุภัณฑ์และช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพรออนไลน์ (30 ชั่วโมง) ณ ศาลาเอนกประสงค์บ้านหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 6 ต.เชียงม่วน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 กรมชลประทานให้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลบ้านมาง และตำบลเชียงม่วน ผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 40 คน (รุ่นละ 20 คน)
นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา เปิดเผยว่า การฝึกอาชีพเสริมทั้ง 2 รุ่น มุ่งเน้นการสอนเทคนิคการขายสินค้าและบริการ การรีวิวสินค้า การกำหนดราคาเชิงกลยุทธ์ การนำเสนอสินค้าในที่สาธารณะตามมหกรรมจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์โอทอป เทคนิคการถ่ายภาพนิ่ง และภาพยนตร์สั้นด้วยสมาร์ทโฟน การโฆษณาสินค้าในสื่อสังคมออนไลน์ จึงเป็นการเน้นนำดิจิทัลสู่ชุมชน เพื่อดึงศักยภาพในตัวสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ให้สามารถโฆษณาขายสินค้าของตนทั้งในตลาดออฟไลน์ (ตลาดดั้งเดิม) เช่น ตลาดประชารัฐ มหกรรมจำหน่ายสินค้า หรือนิทรรศการต่างๆ และตลาดออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สามารถรับออเดอร์หรือใบสั่งสินค้าจากลูกค้าได้โดยตรง สามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าผ่านบริการของบริษัทไปรษณีย์ไทยหรือบริษัทเอกชนซึ่งมีหลายบริษัทที่มีศักยภาพสูง ทั้งนี้สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยายังมีแผนเปิดหลักสูตรที่ 3 ที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยน้ำว้า ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรหลักของอำเภอเชียงม่วน ทีแตกต่างจาก อำเภออื่นๆ เช่น อำเภอจุน และดอกคำใต้ ที่เป็นกล้วยหอม จึงเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าในรูปแบบของฝากหรือของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว โดยกำหนดฝึกในหลักสูตรต่อยอดด้านการทำแผนธุรกิจ บรรจุภัณฑ์และช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยน้ำว้าออนไลน์ (30 ชั่วโมง) ระหว่างวันที่ 6-10 กรกฎาคม 2562 ณ อาคารอเนกประสงค์บ้านกลาง ต.เชียงม่วน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ผู้สนใจสามารถเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ได้ตามวันและเวลาดังกล่าว