หนักขึ้นทุกวัน!! "สาธารณสุขกาญจนบุรี" เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่น PM2.5
22 ม.ค. 2563, 09:23
วันที่ 22 ม.ค. 63 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน พร้อมให้คำแนะนำประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก
นพ.นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center, PHEOC) กรณีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM) ตามแนวทางการดำเนินงาน จากข้อสั่งการการประชุมทางไกล (Video conference) การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ปี 2563 กองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ≥ 76 มคก./ลบ.ม. ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขกาญจน์ ได้ติดตามผลติดต่อกันมาถึง 3 วัน ความเข็มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่ได้ต่ำลงแม้แต่น้อย ณ ห้องประชุม Video conference สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี โดยมี นายแพทย์นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ มีข้อสั่งการคือ
1. รายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการทุกวัน
2. เฝ้าระวังสถานการณ์คุณภาพอากาศทุกวัน
3. สื่อสาร เตือนภัย สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก และให้คำแนะนำการปฏิบัติตน ทั้งประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงตามระดับความรุนแรงมากขึ้น
4. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กจากแหล่งกำเนิด ภายใต้ พระราชบัญญัติ การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ และประสานขอความร่วมมือประชาชนในการลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก
คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ดังนี้
1. ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยอยู่ภายในอาคารบ้านเรือน หากไม่จำเป็นไม่ควรออกนอกบ้าน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง (กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น)
2. หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ควรมีการใส่หน้ากากอนามัย ทั้งนี้หากต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน 3-4 ชั่วโมงต่อวัน ควรใส่หน้ากากกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก
3) หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย และการทำงานหนักที่ออกแรงมาก เพราะการหายใจเร็วในระหว่างการออกกำลังกายมีโอกาสให้ร่างกายรับมลพิษเข้าสู่ปอดได้มากขึ้น
4) ลดแหล่งมลพิษอื่นๆ ภายในบ้าน เช่น งดการสูบบุหรี่ การใช้เตาถ่าน การใช้สเปรย์ฉีดพ่นในบ้าน การจุดธูปเทียน การทำอาหาร การใช้เครื่องดูดฝุ่น กวาดพื้น เป็นต้น
5) อาคารบ้านเรือน ให้ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดและทำความสะอาดโดยการใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ
6) การใช้เครื่องปรับอากาศ ควรทำการปรับให้เป็นระบบที่ใช้เฉพาะอากาศหมุนเวียนภายในบ้านหรืออาคาร และเลือกใช้แผ่นกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพกลางถึงสูง เพื่อช่วยในการลดปริมาณอนุภาคจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคาร
7) ไม่เผาอ้อย ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป
8) ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ก่อปัญหาซ้ำเติม หรือทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงอีก
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ แต่ให้ตื่นตัวและติดตามข่าวสารเรื่องดังกล่าวจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และสามารถประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองได้ทาง https://goo.gl/forms/dy9MiavLOqE1JkQD3 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422