เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เปิดตำนาน "ตรุษจีน ตรุษญวน" นครพนมเชิญเที่ยวชม 3 เชื้อชาติ (มีคลิป)


22 ม.ค. 2563, 11:28



เปิดตำนาน "ตรุษจีน ตรุษญวน" นครพนมเชิญเที่ยวชม 3 เชื้อชาติ (มีคลิป)




วันที่ 22 มกราคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าย่านการค้า การธุรกิจ ของชาวไทยเชื้อสายจีนและเวียดนาม ริมถนนสายหลักเช่น อภิบาลบัญชา บำรุงเมือง เฟื่องนคร และสุนทรวิจิตรซึ่งเป็นย่านชุมชนชาวจีน-เวียดนามรุ่นแรกๆที่เข้ามาตั้งรกรากในจังหวัดนครพนม เริ่มทำความสะอาดบ้านเรือน พร้อมนำโคมแดงป้ายผ้ามงคลแขวนไว้บริเวณหน้าร้านหรือหน้าบ้าน ขณะที่ในตลาดสดเริ่มมีการจับจ่ายซื้อเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ทั้งหมู เป็ด ไก่ ผลไม้ เสื้อกี่เพ้า กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังช่วงต้นสัปดาห์ซบเซาจนพ่อค้าแม่ขายบ่นให้นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ในวันที่เดินตรวจสินค้าเทศกาลตรุษจีน ว่า ตรุษจีนปีนี้เงียบเหงากว่าปีผ่านมา

ด้านเทศบาลเมืองนครพนม  โดย นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรี  จัดสุดพิเศษด้วยอุโมงค์ไฟตรุษจีนที่ประดับด้วยดอกไม้สีแดง ยาวกว่า 100 เมตร บนทางไบค์เลนจักรยานซึ่งเป็นระเบียงชมวิว ตรงสะพานสวรรค์ชายโขง  ซึ่งนักท่องเที่ยวใช้เป็นจุดเช็คอินอีกแห่ง ที่มีอากาศเย็นสบาย สายลมพัดเอื่อยกระทบผิวกาย พร้อมชมทิวทัศน์สองฝั่งโขง ที่ได้ขึ้นชื่อว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย

ซึ่งจังหวัดนครพนม ได้ร่วมกับสมาคมพ่อค้าฯ สมาคมไทยเวียดนาม และเทศบาลเมืองนครพนม  “งานเทศกาลตรุษจีน นครพนม ประจำปี 2563 ในระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม ณ บริเวณจุดเช็คอินหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม ซึ่งไฮไลต์ของงานคือเช้าวันที่ 25 มกราคม  มีการตักบาตร 3 เชื้อชาติ บริเวณหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ โดยจะแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ เช่น ชาวไทยอีสาน แต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองดั้งเดิม ชาวจีนแต่งกายด้วยชุดกี่เพ้า และชาวเวียดนามที่จะแต่งกายด้วยชุดอ่าวหญ่าย  จากนั้นจะเป็นพิธีอวยพรวันตรุษจีนและเต๊ดเงี่ยนด่าน จากนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายนิวัติ เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรี นายสุเทพ อติวรรณกุล นายกสมาคมพ่อค้าจังหวัดฯ นายวิศรุต จินธนะเสถียร นายกสมาคมไทยเวียดนามแห่งประเทศไท )และนายศิวรัตน์ ตันติพัฒนกุลชัย นายกสมาคมไทยเวียดนามจังหวัดนครพนม นักท่องเที่ยวจะได้ชมการแสดงรำจีน เวียดนาม อันสวยงามตระการตา การเชิดสิงโตแห่รอบเมือง ส่วนวันที่ 26 มกราคม พบกับคอนเสิร์ตจาก 3 นักร้องดัง เจนิเฟอร์ คิ้ม และ บุรินทร์กรุ๊ฟไรเดอร์ ชมการแสดงเรื่องเล่าจากหมื่นลี้ พร้อมแฟชั่นโชว์จีน-เวียดนาม ประกวดมิสตรุษจีน การแสดงศิลปวัฒนธรรมอันหลากหลาย โชว์การแสดงสิงโต-มังกรเต็มรูปแบบ พร้อมอาหารนานาชาติ ซึ่งแม้นครพนมจะเป็นเพียงจังหวัดเล็กๆ แต่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อันงดงาม เป็นเวลากว่าร้อยปีที่ชาวไทยดั้งเดิมกับชาวจีนและเวียดนาม ต่างดำรงอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก กระทั่งทุกวันนี้

นายเฉลิมชัย รุจิวรารัตน์  ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)  สำนักงานนครพนม เปิดเผยว่า วันตรุษจีน ปี 2563 นี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 25 มกราคม  ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน เป็นวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งชาวจีนจะแบ่งเวลา 1 ปี เป็น 4 ฤดู คือ “ชุง แห่ ชิว ตัง”  ประเพณีตรุษจีนนั้นก็คือ การฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ฉลองเป็นเวลานานถึง 15 วัน การเตรียมงานส่วนใหญ่จะเริ่มหนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน จะมีการซื้อของขวัญ สิ่งต่างๆ เพื่อประดับประดาบ้านเรือน ซื้ออาหารและเสื้อผ้าใหม่ ชาวจีนจะทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้ายออกไป ประตูหน้าต่างมีการทาสีใหม่ (นิยมทาสีแดง) จะมีการประดับประดาประตูหน้าต่างด้วยกระดาษที่มีคำอวยพร อาทิ จี๋เสียงหยูอี้ 吉祥如意 (สมความปรารถนา) เจาไฉ่จิ้นเป่า 财进 (เงินทองไหลมา) หรือ หลงหม่าจินเสิน 龙马精神 (สุขภาพแข็งแรง) เป็นต้น ซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย (ตื่อเส็ก) วันไหว้ (วันสิ้นปี) และวันปีใหม่ (วันเที่ยวหรือวันถือ)

ประวัติชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดนครพนม มีบรรพบุรุษอพยพมาจากจังหวัดแต้จิ๋ว เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยมาทางเรือผ่านทะเลจีนใต้เป็นแรมเดือนมาสู่กรุงเทพฯ  บางส่วนเดินทางไปในถิ่นทุรกันดาร เพราะคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสของการเติบโตได้ดีกว่าอยู่ในเมืองหลวง จึงมีคนจีนบางกลุ่มเดินทางมายังภาคอีสานจนถึงจังหวัดนครพนม

ชาวจีนเมื่อเข้ามาอยู่อาศัยในแผ่นดินไทย ก็จะแต่งงานกับผู้หญิงไทยกลายเป็นค่านิยมในสมัยนั้น ทำให้การสืบเชื้อสายเป็นคนไทยเชื้อสายจีนสืบต่อเนื่องกันมาตั้งแต่นั้น ต่อมาก็มีการรวมกลุ่มพ่อค้าในจังหวัดนครพนมตั้งเป็น”สมาคมฮั่วเคี้ยว” เมื่อปี 2489  มีนายกสมาคมคนแรกคือนายโต๊ะเค็ง แซ่เตีย ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยกับชาวจีนเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด และสมาคมพ่อค้าจังหวัดนครพนมได้เริ่มก่อตั้งสถานศึกษาชื่อโรงเรียนตงเจี่ย เพื่อให้ลูกหลานชาวจีนได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาจีนเพิ่มเติมจากภาษาไทยที่เป็นภาษาบังคับต้องเรียนรู้อยู่แล้ว

 

ด้านวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายจีนจะได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างมาจากบรรพบุรุษ ได้แก่ การประกอบพิธีดั้งเดิมตามความเชื่อ เช่น เทศกาลตรุษจีน วันไหว้พระจันทร์ วันสารทจีน วันเช้งเม้ง เทศกาลกินเจ จัดสมโภชเจ้าพ่อหมื่น เจ้าพ่อคำแดง เจ้าพ่อสัมมาติ เจ้าพ่อสิบสอง เป็นต้น



เทศกาลตรุษจีนเป็นงานเฉลิมฉลองที่ยาวที่สุดและสำคัญที่สุดในปฏิทินจีน คือมีทั้งหมด 15 วัน ในประเทศจีนธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่นเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองตรุษจีนนั้นหลากหลายมาก ประชาชนจะเทเงินของตนเพื่อซื้อของขวัญ ของประดับตกแต่ง วัสดุ อาหารและเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ยังมีประเพณีว่า ทุกครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านอย่างละเอียดลออ เพื่อปัดกวาดโชคร้ายด้วยหวังว่าจะเปิดทางให้โชคดีเข้ามา มีการประดับหน้าต่างและประตูด้วยกระดาษตัดสีแดงและคู่กับธีม "โชคดี", "ความสุข", "ความมั่งคั่ง" และ "ชีวิตยืนยาว" ที่ได้รับความนิยม ในคืนก่อนตรุษจีน อาหารค่ำเป็นการกินเลี้ยงกับครอบครัว อาหารนั้นจะมีเช่น หมู เป็ด ไก่และอาหารอย่างดี  ครอบครัวจะปิดท้ายค่ำคืนด้วยประทัด เช้าวันรุ่งขึ้น เด็กจะทักทายบิดามารดาของตนโดยอวยพรพวกท่านให้มีสุขภาพดีและสวัสดีปีใหม่ และได้รับเงินอั่งเปา ประเพณีตรุษจีนนั้นเพื่อการสมานฉันท์ ลืมความบาดหมางและปรารถนาสันติและความสุขแก่ทุกคนอย่างจริงใจ

ส่วนประเพณีตรุษญวน หรือปีใหม่ของชาวเวียดนาม มีลักษณะเหมือนกับประเพณีตรุษจีนของชาวจีน ในอดีตสมัยที่เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของจีนนานนับพันปี วัฒนธรรมทางความเชื่อและการดำรงชีวิตตลอดจนภาษาต่างก็ได้รับอิทธิพลจากจีนทั้งสิ้น ปฏิทินทางจันทรคติของเวียดนามจะตรงกับปฏิทินทางจันทรคติของจีน ดังนั้นวันตรุษญวนหรือวันขั้นปีใหม่เวียดนามจะตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือตรงกับวันตรุษจีนนั่นเอง

     ตรุษญวนในภาษาเวียดนามเรียกว่า “เต๊ดเงี่ยนด่าน” เทศกาลต้อนรับแสงรุ่งอรุณของปีใหม่ ในการเฉลิมฉลองเทศการตรุษญวนจะเริ่มขึ้นในวันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของเวียดนาม (เจ็ดวันก่อนตรุษญวน) วันนี้จะมีการไหว้เทพเจ้าแห่งเตาไฟ ในภาษาเวียดนามเรียกว่า องต๊าว หรือ ต๊าวเกวิน เทพเจ้าเตาเป็นเทพเจ้าที่คอยสอดส่องดูแลความเป็นไปทุกอย่างภายในบ้าน เทพเจ้าเตาของเวียดนามมีสามองค์ ซึ่งแตกต่างกับของจีน พอถึงวันที่ 23 เดือน 12 จะมีการเซ่นไหว้เทพเจ้าโดยวัตถุประสงค์คือเพื่อส่งเทพเจ้าขึ้นสวรรค์ ในพิธีจะมีการไหว้ปลาคร๊าฟ ซึ่งเทพเจ้าจะขึ้นสวรรค์โดยขี่ปลาคร๊าฟนี้ พอไหว้เสร็จก็จะนำปลาคร๊าฟไปปล่อยในแม่น้ำหรือหนองน้ำเพราะเชื่อว่าปลาคร๊าฟจะแปลงกลายเป็นมังกรพาเทพเจ้าขึ้นสู่สวรรค์ หลังจากนั้นจะมีการทำความสะอาดบ้านเรือนประดับตกแต่งสวยงานเพื่อต้อนรับเทศกาลตรุษญวนที่จะมาถึง

หลังจากไหว้เทพเจ้าเตาในวันที่ 23 เดือน 12 แล้ว พอถึงวันที่ 30 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติของเวียดนาม (ก่อนตรุษจีนหนึ่งวัน) จะมีการไหว้บรรพบุรุษเพื่อเชิญบรรพบุรุษกลับมาร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาลตรุษญวน โดยญาติพี่น้องทุกคนที่อยู่ไกลบ้านจะต้องกลับมาเพื่อรวมกันพร้อมหน้าพร้อมตาในวันปีใหม่ การไหว้บรรพบุรุษจะเริ่มขึ้นในช่วงบ่าย การไหว้มีสองแบบคือ

แบบที่หนึ่ง คือไหว้แบบไปเชิญวิญญาณบรรพบุรุษที่สุสานคือลูกหรือหลานชายจะต้องนำของไหว้ไปไหว้เชิญวิญญาณบรรพบุรุษที่สุสานบริเวณหลุมศพของบรรพบุรุษทุกคน จากนั้นพูดเชิญวิญญาณกลับบ้าน ในระหว่างทางมีข้อห้ามว่าห้ามพูดจากับใครเด็ดขาด พอถึงบ้านก็เริ่มพิธีไหว้ต้อนรับบรรพบุรุษที่บ้าน

แบบที่สอง คือไหว้แบบไม่ไปเชิญวิญญาณบรรพบุรุษที่สุสาน โดยจะไม่มีการนำของไหว้ไปไหว้ที่สุสานแต่จะไหว้ที่เชิญวิญญาณที่บ้านพร้อมกับไหว้ต้อนรับบรรพบุรุษ หลังจากไหว้ต้อนรับบรรพบุรุษกลับมาบ้านเสร็จ ลูกหลานทุกคนก็ร่วมกันเฉลิมฉลองรับประทานอาหารร่วมกันอย่างพร้อมหน้า

ของไหว้ในวันเทศกาลตรุษญวนจะมีของสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยในเทศกาลนี้ก็คือ บั๊ญจึง หรือข้าวต้มมัดญวน จะมีลักษณะเป็นห่อสี่เหลี่ยมจัตุรัส ห่อด้วยใบตอง ภายในจะมีข้าวเหนียว ถั่วเหลือง และหมูสามชั้น แบ๋งจึงถือเป็นขนมประจำเทศกาลตรุษญวน มีต้นกำเนิดในสมัยกษัตริย์หุ่งเวือง ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์แรกของเวียดนาม

สิ่งที่ห้ามทำในวันเทศกาลตรุษจีนและตรุษญวนคือ ห้ามกวาดบ้าน ถ้ากวาดก็ให้กวาดเข้า ห้ามพูดเรื่องไม่ดี ห้ามทะเลาะกัน ห้ามทวงหนี้และจ่ายหนี้ ห้ามยืมเงิน ห้ามไปงานศพหรือบ้านที่กำลังไว้ทุกข์ ห้ามไปเยี่ยมคนป่วย โดยปกติจะห้ามปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ประมาณ 3 วันเพราะถือว่าเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งปีใหม่แสดงถึงสิ่งดีๆ จะได้โชคดีตลอดปี







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.