"บิ๊กตู่" ย้ำทุกหน่วยงานปฏิตามแผนแก้ฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ระยะเร่งด่วน-ระยะสั้น-ระยะยาว
24 ม.ค. 2563, 17:02
วันนี้ ( 24 ม.ค.63 ) เวลา 15.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมพูดคุยกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนเด็ก เกษตรกร และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เพื่อรับฟังปัญหาและแนวคิดของประชาชนต่อการรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ในรายการ Government Weekly สรุปประเด็น ดังนี้
ในช่วงแรก นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาฝุ่นจิ๋ว หรือ PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน โดยสาเหตุหลักของการเกิด PM 2.5 คือ การขนส่งทางถนน ภาคอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง และครัวเรือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด ดังนั้นจึงต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน รวมถึงการใช้กฎหมายที่จะสามารถบังคับใช้ได้เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาทุกหน่วยงานได้ทำตามหน้าที่ตามแผนปฏิบัติการที่เคยกำหนดไว้ ตั้งแต่ระดับฝุ่นน้อยไปจนถึงมาก ซึ่งแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองมี 3 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 ระยะเร่งด่วนและวิกฤต เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ มาตรการที่ 2 ระยะสั้น ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด และมาตรการที่ 3 ระยะสั้นและระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยมาตรการเร่งด่วนเชิงพื้นที่ แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับที่ 1 PM 2.5 มีค่า 0-50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินภารกิจตามสภาวะปกติ ระดับที่ 2 PM 2.5 มีค่าระหว่าง 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินมาตรการให้เข้มงวดขึ้น ระดับที่ 3 PM 2.5 มีค่าระหว่าง 76-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ควบคุมพื้นที่ ควบคุมแหล่งกำเนิด และกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ และระดับที่ 4 PM 2.5 มีค่ามากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เสนอให้จัดประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอมาตรการต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ
อย่างไรก็ตาม การทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องเป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งมีระยะเร่งด่วนไปถึงระยะยาว และขอให้ทุกหน่วยงานรวมถึงประชาชนร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาและป้องกันตนเองจาก PM 2.5 ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นแทนพืชล้มลุกที่ต้องเผาก่อนฤดูกาลเพาะปลูกรอบใหม่ สร้างแรงจูงใจให้เกิดธุรกิจหรือการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รวมถึงการใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเองจากฝุ่น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและห่วงใยกับสุขภาพของประชาชน โดยขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกัน ทั้งภาคเอกชน ประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา เพื่อคนในรุ่นนี้และลูกหลานของเราในอนาคต