สำนักงานสาธารณสุขกาญจนบุรี ประชุมหาวิธีรับมือและป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาที่กำลังแพร่ระบาด
30 ม.ค. 2563, 17:40
กาญจนบุรี ฝากเตือนประชาชนปฏิบัติตนตามกระทรวงสาธารณสุขประกาศด้วย หวั่นกระทบท่องเที่ยว หน่วยงานทางการแพทย์ ของจังหวัดกาญจน์ ทำงานเชิงรุกต่อเนื่อง และปฏิบัติการเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ส่วนรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนามีผู้ป่วยที่สงสัยการติดเชื้อโคโรนาไวรัส ในขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้รับผู้ป่วยที่มีประวัติต้องเฝ้าระวัง 1 ราย
วันที่ 30 มกราคม 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ห้องประชุมสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นพ.กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 5 เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยมี นพ.นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นายอนุชา วรหาญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นายวิสิทธิ์ ปิ่นประชานันท์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี และผู้รับชอบเข้าร่วมประชุม เพื่อให้พื้นที่สามารถเตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์การระบาดของโรคติดตต่อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นไปตามมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี ได้มีประกาศเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดย ระบุว่า “สถานการณ์ผู้ป่วยที่สงสัยการติดเชื้อโคโรนาไวรัส ในขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้รับผู้ป่วยที่มีประวัติต้องเฝ้าระวัง 1 รายไว้สังเกตอาการ ซึ่งอยู่ในระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากส่วนกลางและอยู่ในระยะเวลาการแยกโรคตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด โดยผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ที่สงสัยการติดเชื้อดังกล่าวมารักษาในโรงพยาบาลเพิ่ม
พร้อมมีข้อแนะนำสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันการติดเชื้อในขณะนี้คือ หมั่นล้างมือ สวมใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีคนอัด อย่านำมือที่ไม่สะอาดสัมผัสใบหน้า และถ้ารู้สึกไม่สบาย ให้วัดไข้ ซึ่งถ้ามีไข้ ต้องรักษาและป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น กรณีที่ท่านหรือคนที่พักอาศัยอยู่กับท่านที่เดินทางมาจากประเทศจีนภายใน 14 วัน มีอาการไข้หวัด เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ให้ประสานงานไปยังสถานบริการของรัฐใกล้บ้าน แจ้งประวัติการเดินทางเพื่อรับคำแนะนำประเมินความเสี่ยงรักษาและควบคุมโรคต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ผ่านมา นายแพทย์สมเจตน์ เหล่าลือเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ได้มอบหมายให้คณะกรรมการเตรียมความพร้อมกรณีโรคปอดอักเสบติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดย นายแพทย์ธเนศ ปิ่นทอง และ แพทย์หญิงนุชนาฎ ธรรมเนียมดี จัดประชุมซ้อมแผนปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินร่วมกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเฝ้าระวัง และมีความพร้อมในการรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อดังกล่าว ที่มีการระบาดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน ณ ห้องประชุมอาคารเภสัชกรรม โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา โดยมีการซักซ้อมบุคลากรสวมใส่ชุดป้องกัน ซักซ้อมเส้นทางเดินการรับส่งผู้ป่วย ไปยังจุดต่างๆ และมีการตรวจเยี่ยมความพร้อมของโรงพยาบาลโดยรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี
ขณะเดียวกันสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี บูรณาการความร่วมมือ อสม. ภาคีเครือข่ายสุขภาพทุกภาคส่วน ประชาชนและชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจ หากมีอาการที่สงสัยขอให้ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล หรือขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท และมัคคุเทศก์ เพื่อช่วยแจ้งให้ผู้ป่วยสงสัยเข้าสู่ระบบป้องกันควบคุมโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 พร้อมให้คำแนะนำประชาชนป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะนักท่องเทียว นักเดินทางควรป้องกันตนเองอย่างถูกต้อง
โดย นพ.นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ บูรณาการทำงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
เพื่อให้ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมและสามารถดำเนินการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ
สำหรับจังหวัดกาญจนบุรีได้ดำเนินการเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่2019 เพื่อติดตามสถานการณ์โรคและเตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดรวมทั้งมีการประชุมคณะทำงาน EOC จังหวัดติดตามสถานการณ์โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 และเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขในทุกด้านเพื่อป้องกันควบคุมโรคดังกล่าว รวมทั้งมีการซ้อมการรับผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อโรคดังกล่าว โดย มีการซ้อมบุคลากรสวมใส่ชุดป้องกัน ซักซ้อมเส้นทางเดินการรับส่งผู้ป่วย ไปยังจุดต่างๆ และ มีการตรวจเยี่ยมความพร้อมของโรงพยาบาลโดยรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและคณะ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ได้ดำเนินการบูรณาการความร่วมมือภาคีเครือข่ายสุขภาพทุกภาคส่วนในชุมชนให้ อสม. ภาคีเครือข่ายสุขภาพทุกภาคส่วน ประชาชนและชุมชน มีความรู้ความเข้าใจ หากมีอาการที่สงสัยขอให้ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล หรือขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท และมัคคุเทศก์ เพื่อช่วยแจ้งให้ผู้ป่วยสงสัยเข้าสู่ระบบป้องกันควบคุมโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 พร้อมให้คำแนะนำประชาชนป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะนักท่องเทียว นักเดินทางควรป้องกันตนเองอย่างถูกต้อง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
1.ระหว่างเดินทางในต่างประเทศ ขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่มีมลภาวะเป็นพิษ และไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอ จาม หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน
2.หลีกเลี่ยงการเข้าไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรวมถึงเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกดี
3.หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก
4.ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว) เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
5.รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และ 6.หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้
หากท่านมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล หายใจเหนื่อย ภายใน 14 วัน หลังกลับมาจากเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน โปรดไปพบแพทย์และยื่นบัตรคำแนะนำด้านสุขภาพสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย กับแพทย์ผู้ทำการรักษาพร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง ท่านอาจได้รับเชื้อโรคก่อนเดินทางมายังประเทศไทย กรุณาแจ้งรายละเอียดต่างๆกับแพทย์ผู้ทำการรักษา เช่น อาการป่วย วันที่เริ่มมีอาการป่วย วันเดินทางมาถึงประเทศไทย สถานที่พัก เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยได้ถูกต้องและรักษาได้ทันท่วงที แพทย์ผู้ทำการรักษาจะรายงานต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อดำเนินการป้องกันควบคุมโรคโดยเร็ว หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422