"ผู้ว่าฯสกลนคร" เปิดงานมหกรรมภูมิปัญญาพื้นบ้านมูนมังอีสาน ครั้งที่11 “ข้าว ปลา ป่า เกลือ”
1 ก.พ. 2563, 09:21
เวลา 18.30 น.วันที่ 31 มกราคม 2563 ที่เวทีกลาง ริมห้วยทราย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานเปิดงาน มหกรรมภูมิปัญญาพื้นบ้านมูนมังอีสาน ครั้งที่ 11 “ข้าว ปลา ป่า เกลือ” ซึ่งกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมี ผศ. ปรีชา ธรรมวินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวรายงาน มหกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในภารกิจของของสถาบันอุดมศึกษาในการเป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น และสอดคล้องกับนโยบาย การขับเคลื่อนของจังหวัดสกลนคร ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณี ให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย นิทรรศการแบบมีชีวิต “ข้าว ปลา ป่า เกลือ” นิทรรศการงานบุญกองข้าว การประกวด แข่งขันทางวิชาการ
อาทิ การประกวดสุนทรพจน์ภาษาถิ่น การ ประกวดวาดภาพระบายสี การประกวดภาพถ่าย การสัมมนาวิชาการวัฒนธรรม “ข้าว ปลา ป่า เกลือ” การประกาศเกียรติคุณ “ศิลปินภูพาน” การแสดงพื้นบ้านเกี่ยวกับ “ข้าว ปลา ป่า เกลือ” ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ชมการแสดง แสง สี เสียง ละครพากย์พื้นบ้าน “ขูลูนางอั้ว” ชมการแสดงจากวงโปงลางไทอีสาน การแสดงดนตรีอีสานคลาสสิก “วงหมา เก้าหาง” การแสดงหมอลำย้อนยุค คณะแม่บุญช่วง เด่นดวง หมอลำกลอนประยุกต์ คณะแม่อรพิน พรมแสง การแสดงหนังประโมทัย ตะลุงอีสาน คณะประกาศสามัคคี การแสดงจากราชินีหมอลำ แม่บานเย็น รากแก่น ศิลปินแห่งชาติ และการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับข้าว ปลา ป่า เกลือ มีการจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สินค้าหัตถกรรม พืชสมุนไพร และผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาอื่น ๆ อีกมากมาย
นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า จังหวัดสกลนคร นั้นได้ชื่อว่าเป็นเมือง 3 ธรรม คือ ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม จังหวัดสกลนครมีบูรพาจารย์ที่เป็นพระอริยสงฆ์ ได้รับความเลื่อมใส และการสักการบูชาจากพุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไป จังหวัดสกลนครมีภูมิประเทศที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ที่หลากหลาย และเป็นเมืองที่มีแหล่งชุมชนอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นสืบทอดและยึดมั่นในวัฒนธรรมประเพณีจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการเป็นเมืองธรรมะ ธรรมชาติและวัฒนธรรม “ข้าว ปลา ป่า เกลือ” มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเป็นอาหารหลักในการดำรงชีวิต ตลอดจนมีความสำคัญที่ก่อให้เกิดความสามัคคี การร่วมแรงร่วมใจ เอื้อเฟื้อต่อกันในรูปแบบของวัฒนธรรม และประเพณีต่าง ๆ อีกทั้งป่าก็เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต ช่วยรักษาความสมดุลของธรรมชาติ