เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กรมสวัสดิการฯ จัดงานการขับเคลื่อนแรงงานนอกระบบสู่ท้องถิ่น Informal Labour Fair 2020


6 ก.พ. 2563, 15:17



กรมสวัสดิการฯ จัดงานการขับเคลื่อนแรงงานนอกระบบสู่ท้องถิ่น Informal Labour Fair 2020




วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2563 ) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า  เวลา 10.00 น. ห้อง Terminal Hall ชั้น 4 ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 นครราชสีมา อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน การขับเคลื่อนแรงงานนอกระบบสู่ท้องถิ่น Informal Labour Fair 2020 “แรงงานนอกระบบ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ” โดยนางอุดมลักษณ์ สอนสารี ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นผู้กล่าวรายงานถึงการจัดงานในครั้งนี้ และนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ

​นางอุดมลักษณ์ สอนสารี ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ในนามของผู้จัดงาน Informal Labour Fair 2020 แรงงานนอกระบบ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ และผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานในวันนี้ ​กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาการคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย เข้าถึงบริการของรัฐ อย่างเท่าเทียมเสมอภาคโดยไม่เลือกปฏิบัติ ควบคู่กับการส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นได้ ในการดำเนินการตามภารกิจดังกล่าว กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2560-2564 เพื่อเป็นกรอบในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานโดยกำหนดวิสัยทัศน์ “แรงงานนอกระบบมีความมั่นคงทางรายได้ ได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างทั่วถึง นำสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” เมื่อเปรียบเทียบจำนวนแรงงานในระบบกับแรงงานนอกระบบ ในปี 2562 พบว่ามีแรงงานนอกระบบ 20.4 ล้านคน แรงงานในระบบ จำนวน 17.1 ล้านคน จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด 37.5 ล้านคน ทำให้เห็นว่ากว่าครึ่งของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดเป็นแรงงานนอกระบบ โดยในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มีแรงงานนอกระบบรวมกัน ประมาณ2,082,118 คน อีกทั้งยังมีลักษณะอาชีพ สภาพการทำงาน และพื้นที่การทำงานที่หลากหลาย ต่างจากแรงงานในระบบ ดังนั้น การขับเคลื่อนภารกิจด้านการคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาแรงงานนอกระบบ จึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และแรงงานนอกระบบในท้องถิ่นตั้งแต่ระดับชุมชน อำเภอไปจนถึงระดับจังหวัด ให้มีการ บูรณาการร่วมกันเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายแรงงานนอกระบบในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง

 

 


   

​สำหรับการจัดงาน Informal Labour Fair 2020 “ภายใต้แนวคิดแรงงานนอกระบบ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ” ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้าง และพัฒนาเครือข่าย การรวมตัวเพื่อพัฒนาตนเองในระดับพื้นที่ ในการเสริมสร้าง และร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการจากภาครัฐ เพื่อให้ได้รับสิทธิการคุ้มครองตามกฎหมาย และสิทธิประโยชน์อื่นที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วย ​การเสวนา เรื่องการสร้างเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสำนักงานเกษตรจังหวัด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ การจัดนิทรรศการแสดงภูมิปัญญาของเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ในด้านความปลอดภัย และด้านการสร้างอาชีพ และการจัดบูธจากหน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ จำนวน 20 บูธ การให้ความรู้และการสาธิตช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน CPR จากทีมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แก่ แรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ และผู้สูงอายุ จากกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ จำนวน 500 คน และจากภาครัฐและเอกชนที่เป็นเครือข่าย จำนวน 100 คน

       

พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้เล็งเห็นความสำคัญของแรงงานนอกระบบจึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2560-2564 เพื่อเป็นกรอบในการกำหนดทิศทาง การดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ หนึ่ง ด้านการเสริมสร้างหลักประกันทางสังคมและขยายความคุ้มครองให้ทั่วถึง โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพได้รับการคุ้มครอง มีหลักประกันทางสังคมตรงตามความต้องการและเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างทั่วถึง สองด้านการเสริมสร้างสมรรถนะแรงงานนอกระบบเพื่อการทำงาน โดยมีเป้าประสงค์ให้แรงงานนอกระบบมีความรู้และทักษะอาชีพ มีมาตรฐานสมรรถนะและมีรายได้ที่มั่งคง สาม ด้านการเพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อมีกลไกการขับเคลื่อนการบริหารงานด้านแรงงานนอกระบบที่มีประสิทธิภาพ

​เนื่องจากแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และประเทศไทยมีเป้าหมายในการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงจำเป็นต้องมีการวางรากฐานการพัฒนาแรงงานนอกระบบของประเทศอย่างมีแบบแผนและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ต่อเนื่องเพื่อให้มีกำลังแรงงานนอกระบบ ที่มีคุณภาพ มีความรู้ สมรรถนะ และมีทักษะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งสามารถรู้เท่าทันและปรับตัวให้มีอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ และต่อยอดความรู้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของแรงงานนอกระบบ ต้องมุ่งสานพลังเครือข่ายแรงงานนอกระบบตามแนวทางประชารัฐ โดยทำงานในรูปแบบของการบูรณาการประสานทุกมิติที่มีความเกี่ยวข้องกัน และให้ความสำคัญในการทำงาน

   










Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.