"นายกฯ" แถลงการณ์เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะยาว (คลิป)
7 ก.พ. 2563, 10:15
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงการณ์เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ระบุว่า
วันนี้มีการประชุมของคณะกรรมการอำนวยการน้ำ ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์เฉพาะหน้าเรื่องภัยแล้งของเราในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน มีการประชุมในเรื่องของโครงการเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำระยะยาว วันนี้ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมาแถลงให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน
ประเทศไทยเป็น “ประเทศเกษตรกรรม” ซึ่งมีน้ำเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ปัจจุบันเรามีจำนวนประชากรมากขึ้น การพัฒนาประเทศเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น จึงทำให้มีความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคมากขึ้น อีกทั้ง ความจำเป็นด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพื่อหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่เรามีแหล่งน้ำสำคัญ เพียงแหล่งเดียว คือ “น้ำฝน” ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชาติ จำเป็นต้องทำทั้งระบบ อย่างบูรณาการ จึงมีความสำคัญ จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำ ของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ในปี 2562 ประเทศไทยประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมาก รวมทั้งฝนตกนอกพื้นที่กักเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม อีกทั้ง การคาดการณ์ปริมาณฝนรวมของกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2563 เกือบทุกภาคของประเทศ “ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ” 3-5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีการเร่งรัดและปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ สำหรับรับมือสถานการณ์ภัยแล้งน้ำแล้ง รวมทั้งป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซาก ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญกับน้ำกิน-น้ำใช้เป็นอันดับแรก นะครับ
ที่ผ่านมารัฐบาลได้วางรากฐานการปฏิรูป สำหรับการบริหารทรัพยากรน้ำ โดยผลักดันให้มีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ.2561–2580 และ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ซึ่งเป็น “กฎหมายน้ำฉบับแรก” ของประเทศ อีกทั้ง จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้เป็นองค์กรกลางด้านน้ำ เพื่อเชื่อมโยงระดับนโยบาย สู่ระดับปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี องค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้ในทุกกิจกรรม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยต้องพิจารณาทั้งการจัดหาแหล่งเก็บน้ำเพิ่มเติม แก้มลิง ประตูกักเก็บน้ำ ระบายน้ำ จูงน้ำ คลองสายใหม่ ที่ระบายน้ำและกักเก็บน้ำได้พร้อมกัน ในทุกภาค ให้ได้ ซึ่งจะมีปัญหาในการใช้ที่ดินเอกชน ที่ดินประชาชน และการทำ EIA ซึ่งต้องดำเนินการให้ได้โดยเร็ว
โดยผลสัมฤทธิ์ จากการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ น้ำ ในปี 58–62 ที่ผ่านมา สามารถประเมินได้อย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ อาทิ โครงการด้านทรัพยากรน้ำ รวม 273,259 โครงการ วงเงิน 368,321 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 9.7 ล้านไร่ เพิ่มความจุน้ำได้ 3,486 ล้าน ลบ.ม. ที่มุ่งเน้นการจัดหาน้ำอุปโภค-บริโภคให้กับ “ทุกหมู่บ้าน” มีน้ำประปาใช้ ได้ครบทุกหมู่บ้านแล้ว จากเดิมขาดไป 9,000 กว่าหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม ในการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อสร้างความมั่นคงให้น้ำภาคการผลิต (ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม) ยังมีข้อจำกัดด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความร่วมมือจากภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ จึงยังไม่บรรลุตามเป้าหมายถึงแม้ว่าเราจะทำได้มากพอสมควร แต่ยังไม่เพียงพอตามที่กำหนดไว้ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจ ที่อาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้ได้มากที่สุด โดยจำเป็นต้องมีการปรับแผนการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา พื้นที่ไหนพร้อมก่อน โครงการพร้อม ประชาพิจารณ์พร้อม ลงตัวก่อน ก็เร่งดำเนินการให้ “ทันที”
สำหรับปี 2563 นี้ ถือว่าประเทศไทย ตกอยู่ในภาวะ “ฝนน้อย” รัฐบาลได้วางแผนรับมือไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง อาทิ การเร่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2562 ให้ได้มากที่สุด และระบายน้ำเท่าที่จำเป็น ตัวอย่างกรณีน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี แม้จะเป็นการเร่งระบายมวลน้ำออกสู่แม่น้ำโขงให้ได้โดยเร็ว แต่ก็มีการเก็บกักน้ำควบคู่กันไปด้วย เมื่อผ่านพ้นวิกฤต เราสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 2,485 ล้าน ลบ.ม. นับเป็น “ผลดี” ต่อสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีน้ำต้นทุนคิดเป็น 60% อย่างไรก็ตาม ภาคเหนือและภาคกลางซึ่งมีฝนตกน้อยกว่าปกติ สามารถเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ได้ ไม่ถึง 50% (ภาคเหนือ 49% และภาคกลาง 37%) ทำให้ในภาพรวมของประเทศ รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญ ในการวางแผนจัดสรรน้ำ คือ น้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค เป็นอันดับแรก จากนั้นเป็นน้ำสำหรับรักษาระบบนิเวศ - ควบคุมคุณภาพน้ำ สำรองน้ำต้นฤดูฝน และน้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม ตามลำดับ ซึ่งต้องมีการประเมินสถานการณ์และกำหนดพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ในแต่ละกิจกรรม “ล่วงหน้า” พร้อมๆ ไปกับการจัดทำแผนสำรองน้ำ เช่น การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ขุดลอกลำน้ำ สำรองน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง การทำฝนหลวง การลงทะเบียนผู้ใช้น้ำ การวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน เป็นต้น เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอ สำหรับทุกกิจกรรม ตามลำดับความสำคัญดังกล่าวเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งนั้น เราต้องแก้ปัญหาในช่วงนี้เป็นกรณีพิเศษ นอกจากมีแผนระยะยาว 20 ปีไว้ล่วงหน้าแล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลยังมองหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอื่นๆ อาทิ การกักเก็บน้ำก่อนลงสู่แม่น้ำสาละวิน โครงการโขง-ชี-มูล คลองระบายน้ำสู่ทะเล พร้อมกักเก็บที่อยุธยา คลองระบายน้ำสู่ทะเลที่นครศรีธรรมราช และโครงการอ่างเก็บน้ำที่ชัยภูมิ ค้างมาหลายรัฐบาล กว่า 20 ปี จนดำเนินการได้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการศึกษาอยู่บ้างแล้ว ให้เกิดต่อเนื่อง เป็นโครงการระยะยาว งบประมาณสูง แต่คุ้มค่า รวมทั้งแหล่งน้ำ “นอกประเทศ” เช่น แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ โดยการหารือร่วมกับประเทศจีน เพื่อให้ระบายน้ำเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด (ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2563) ประเทศจีนได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ส่งผลให้ระดับน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง นับเป็นอีกความพยายามของรัฐบาลที่มีความสำเร็จ ในการเจรจากับต่างประเทศในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องน้ำแล้งของประชาชน
ทั้งนี้ แม้การเตรียมแหล่งเก็บกักน้ำ ระบบชลประทาน และกลไกการทำงานต่างๆ จะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เราก็ไม่สามารถบังคับให้ฝนที่มีน้อยอยู่แล้ว ตกในพื้นที่รองรับได้ตามต้องการเราเตรียมสถานที่กักเก็บน้ำไว้เป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เมื่อฝนไม่ตก ปริมาณน้ำที่กักเก็บก็มีจำนวนน้อย ส่งผลให้สถานการณ์ปัจจุบัน ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสำคัญขนาดใหญ่ ทั้ง 17 แห่ง อยู่ในเกณฑ์น้อย “ขั้นวิกฤติ” ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ลดละความพยายาม โดยได้อนุมัติ “งบกลาง” และระดมสรรพกำลัง เพื่อมาดำเนินมาตรการต่าง ๆ อาทิ (1) การจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมนอกพื้นที่ เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบประปาหมู่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ (2) การขุดเจาะบ่อบาดาล จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน และเชื่อมโยงแหล่งน้ำให้เป็นระบบ และ (3) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ฝาย และระบบกระจายน้ำ เพื่อให้พร้อมรองรับน้ำในฤดูฝนปีนี้ อีกด้วย ซึ่งมีประชาชนจะได้รับประโยชน์ มากกว่า 72,000 ครัวเรือน บนพื้นที่มากกว่า 166,000 ไร่ นะครับ
ผมถือว่าเป็นการแก้ปัญหาน้ำแล้ง “เร่งด่วน” ได้อย่างตรงจุด ไปพร้อมๆ กับการเตรียม “น้ำต้นทุน” ไว้ใช้ในอนาคต ปีถัดๆ ไป ซึ่งรัฐบาลได้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุข แห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาสู่การปฏิบัติ ทั้งโครงการตามแนวทางพระราชดำริและโครงการสำคัญๆ เช่น การจัดทำแก้มลิง ฝนหลวง และการจัดหาแหล่งน้ำ เป็นต้น โดยรัฐบาลได้ยกระดับการทำงานจาก “ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ” ให้เป็น “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” ซึ่งมอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นผู้อำนวยการฯ กำกับดูแลการทำงานของ 4 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน อย่างบูรณาการกัน เพื่อให้การช่วยเหลือและแก้ปัญหาน้ำแล้ง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในการ “สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ” ของประเทศ ในระยะยาว นั้น เรายังมีโครงการอีกเป็นจำนวนมากที่รอดำเนินการ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ในแต่ละพื้นที่ โดยรัฐบาลได้เตรียมการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อวางรากฐานการพัฒนาแหล่งน้ำ อย่างเป็นระบบ หากเราสามารถขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามแผน ภายในปี 2565 เราก็จะมีน้ำต้นทุนเพิ่มอีกราว 4,700 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 7 ล้านไร่ สิ่งสำคัญที่รัฐบาลกำลังคิดในขณะนี้ เราจะทำอย่างไร จะมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่นอกเขตชลประทานได้บ้าง ซึ่งต้องใช้ที่ดินที่ประชาชนยินยอม ไม่เดือดร้อน เพื่อบรรเทา แก้ปัญหาการปลูกพืชเกษตร จากน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น ผมขอให้พี่น้องประชาชนไว้ใจและมั่นใจว่า การดำเนินงานต่างๆ ของรัฐบาล ย่อมยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน เป็นที่ตั้งเสมอมา และในโอกาสเดียวกันนี้ ผมขอความร่วมมือ ร่วมใจ จากพี่น้องชาวไทย “ทุกคน” ช่วยกันประหยัดน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ไม่ให้เกิดการสูญเปล่า รวมทั้ง ร่วมกันรักษาฟื้นฟู “ป่าต้นน้ำ” เพื่อเพิ่มแหล่งต้นน้ำและอากาศบริสุทธิ์ ให้กับประเทศชาติ และลูกหลานของเรา นะครับ
สุดท้ายนี้ ขอเรียนว่า “น้ำคือความมั่นคงของชีวิต และประชาชนคือหัวใจสำคัญ ที่เราจะต้องร่วมมือกัน ช่วยให้ประเทศชาติ และ “ทุกๆ คน” ผ่านพ้นวิกฤติแล้งไปได้” ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้การสนับสนุน และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลด้วยดีเสมอมา