นารากร ติยายน วิเคราะห์การทำงานนักข่าวช่อง7 แตกต่างไม่เหมือนใคร แต่ได้ใจคนทั้งประเทศ
12 ก.พ. 2563, 12:01
จากกรณีเหตุคนร้ายกราดยิงโคราชวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 หลายคนต่างได้เห็นการทำงานของสื่อต่าง ๆ แต่กระนั้น การรายงานของสื่อกลับเป็นดาบสองคม เพราะคนร้ายติดตามข่าวในโซเชียล ทำให้รู้ทางหนีทีไล่ และการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยากลำบาก จนต้องมีการเตือนอย่าให้สื่อและคนที่อยู่ในเหตุการณ์ไลฟ์ หรือรายงานข่าว หรือแม้กระทั่งอย่าติดแฮชแท็กเพื่อป้องกันคนร้ายไหวตัวทัน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ โลกออนไลน์มีการชื่นชมการทำงานของทีมข่าวช่อง 7 ที่มีการใช้โดรนเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ชี้จุดซ่อนตัวของคนร้าย แถมยังลงพื้นที่ปฏิบัติการช่วยเจ้าหน้าที่จนสามารถวิสามัญคนร้ายได้
ล่าสุด ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง นารากร ติยายน ได้โพสต์ข้อความ วิเคราะห์การทำงานนักข่าวช่อง7 ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร โดยมีข้อความว่า
(Ep.3) มาว่ากันต่อจากโพสต์ก่อนหน้านี้ ที่พูดถึงเหตุผลที่ทำให้ สื่อไร้จรรยาบรรณ ได้แก่ ช่องA ช่อง T และ ช่อง O
ทั้ง 3 ช่องนี้ เป็นช่องที่ผู้บริหารกดดันเรื่องเรตติ้งและรายได้อย่างหนัก ประกอบกับการนำเสนอข่าวแบบดราม่ามันได้เรตติ้งกลับมาชัดเจนจริงๆ
ก็มีคนถามมาว่า แล้วทำไม ช่อง 7 และ TPBS ถึงทำได้ถูกต้องเหมาะสม ยิ่งช่อง7 ยังช่วยตำรวจด้วย มาจะลองวิเคราะห์ให้ฟังนะ
ช่อง 7 รายได้รวมสูงสุดในบรรดาช่องต่างๆมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคทีวีมีแค่ 5 ช่อง พอมาประมูลทีวีดิจิตอล แม้จะต้องลงทุนเพิ่มบ้าง แต่รายได้รวมยังสูงสุด ช่อง 7 ลอยตัวมาตั้งแต่แรก พูดง่ายๆ คือ ขาดทุนกำไรนิดหน่อย
1)ในส่วนของฝ่ายข่าวช่อง 7 ตอนนี้บริหารแบบมี 2 ทีม มีฝ่ายข่าว 1 และ ฝ่ายข่าว 2
2)ฝ่ายข่าว 1 คือ ฝ่ายข่าวของช่อง 7 เดิม ซึ่งหลักๆ คือ รายการข่าวตอนเช้ามืด สนามข่าว 7 สี. ห้องข่าวภาคเที่ยง ข่าวภาคค่ำช่วงที่ 2 (เป็นรายการข่าวที่ครองเรตติ้งสูงสุดมานาน)
3)ฝ่ายข่าว 2 คือ ฝ่ายข่าวของบริษัทมีเดียสตูดิโอ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของช่อง 7 แต่เดิมแยกกันเด็ดขาด แต่ตอนนี้เอามารวมกันแล้ว ทำให้มีความแข็งแกร่งขึ้น
4)ฝ่ายข่าว 2 รายการหลักๆ คือ เช้านี้ที่หมอชิต , เจาะประเด็นข่าวค่ำ และประเด็นเด็ด 7 สี
5)การมีฝ่ายข่าว 2 ทีม มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ข้อดีมากกว่า คือเกิดการผนึกกำลัง สร้างอำนาจการต่อรองสูง แต่ละทีมแข่งขันกันเอง เพื่อแสดงผลงานให้ปรากฏ
6)ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ผลงานใช้โดรนช่วยตำรวจค้นหาตำแหน่งคนร้าย งานนี้ต๊ะคิดว่า เป็นผลงานของฝ่ายข่าว 2 (ดูจากหน้าตาทีมงานที่คุ้นเคย)
7)ส่วนข้อเสีย ได้ยินแว่วๆ มาจากคนในฝ่ายข่าวว่า ยุ่งมาก แต่แบบนี้ดีสำหรับผู้บริหารนะจ้ะ เพราะได้ผลงานดีๆ ไปเต็มๆ ได้ทั้งกล่อง ได้ทั้งมง
สังเกตให้ดี คนช่อง 7 ทั้งผู้บริหารและพนักงานจะมีบุคลิกค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ลักษณะ low profile high profit การจะทำอะไรมีแบบแผน ไม่มั่ว อาจเพราะเป็นช่องที่อยู่มานาน บุคลากรมีประสบการณ์ในวงการทีวีทุกคน
ส่วน TPBS ช่องทีวีสาธารณะที่แปลงร่างมาจาก ไอทีวี
1)บุคลากรส่วนใหญ่ก็มาจากไอทีวี ที่ไม่ได้ย้ายไปไหนท่ามกลางกระแสทีวีดิจิตอล TPBS บริหารงานแบบกึ่งราชการ พนักงานมีสถานะเหมือนข้าราชการประจำ ผู้บริหารไม่สามารถ Lay off พนักงานได้ง่ายๆ แบบทีวีช่องอื่นที่เคยเป็นข่าว
2)TPBS ไม่ต้องหารายได้ ไม่ต้องกดดันเรื่องเรตติ้ง เพราะได้เงินสนับสนุนจากกองทุนสรรพสามิตปีละ 2,000 ล้านบาท
3)พวกเราในวงการทีวีเคยคุยกันว่า ถ้าทีวีช่องไหน ได้รับเงินสนับสนุนปีละ 2,000 ล้านบาทอย่าง TPBS ท้าเลยว่า ทำได้ดีกว่า TPBS ทำอีก
จะเห็นว่า ทั้งช่อง 7 และ TPBS เป็นช่องที่มีแนวทางของตัวเอง ชัดเจน เหนือกาลเวลา ลอยตัว ไม่กดดันเรื่องรายได้
ในขณะที่ช่องทีวีดิจิตอลเกิดใหม่ในช่วง 6 ปีมานี้ มีภาระเรื่องเงินลงทุน ต้นทุนผลิตรายการ ต้นทุนสถานี ค่าใช้จ่ายในการออกอากาศ ฯลฯ
ในช่วง 3 ปีแรก แทบทุกช่องแบกภาระขาดทุน ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ข้อจำกัดมันเยอะ โดยเฉพาะฝ่ายข่าว เป็นฝ่ายที่รายได้ผกผันกับต้นทุน
ในช่วง 3 ปีหลังมานี้ พวกเราคงเห็นข่าวพนักงานฝ่ายข่าวช่องต่างๆ ถูก Lay off ถูกจ้างออก ตกงานแบบไม่รู้ตัว หลายครั้ง หลายหนมาแล้ว
จนมาถึงวันนี้อาจจะเป็นจุดแตกหักทำให้สติแตกกันไปหมด
ที่มา นารากร ติยายน