เลขาธิการสมาพันธ์ครูแห่งประเทศไทยค้านเรื่องการยุบ ร.ร.ขนาดเล็กคิดว่าเป็นการไม่ถูกต้อง
17 ก.พ. 2563, 12:04
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 62 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่หอประชุมที่ว่าการ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ได้กล่าวถึง นโยบายการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ตามมติ ครม. 7 ต.ค.2562 นั้น ค่อยผ่อนคลายลงไปบ้าง หลังจากที่เจ้ากระทรวงศึกษาธิการ นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ ได้มีความเข้าใจถึงผู้ปกครองประชากรในวัยเรียน ที่โรงเรียนขนาดเล็กยังมีความจำเป็นมากที่จะต้องให้ดำรงคงอยู่ในชุมชน เพื่อความมั่นคงของพลเมืองชาติ และต้องขอบคุณท่าน ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ.ที่จะนำเรื่องการพัฒนาสร้างคุณภาพให้กับโรงเรียนขนาดเล็กเข้า ครม.โดยจัดสรรอัตรากำลังครูให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก ก็ถือว่ามาถูกทางในการที่พัฒนาก่อนแก้ปัญหา ซึ่งต้องจัดสรร 4 M ลงไปให้อย่างเพียงพอ ให้เสมอภาคและเท่าเทียม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชากรในวัยเรียนของชาติ ไม่ให้ชุมชนสร้างความเข้มแข็งด้วยตนเองฝ่ายเดียว รัฐต้องดำเนินการจัดการศึกษาตามรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง ดังเช่น ร.ร.บ้านพะเยียวตาสุ (อส.พป.37) ต.ใจดี อ.ขุขันธ์ มีความเข้มแข็งตามหลัก “บวร” เป็นแบบอย่างได้ ถ้าราชการจัด 4 M ให้เชื่อว่าคุณภาพผู้เรียนไม่พ้น 1 สมอง 2 มือครูแน่นอน หากจะให้โรงเรียนเข้มแข็ง จะต้องกระจายอำนาจ ให้มี พ.ร.บ.โรงเรียนเป็นนิติบุคคลตามกฏหมายมหาชนอย่างแท้จริง ให้มีความเป็นอิสระทางด้านวิชาการ ด้านการบริหารบุคคล ด้านแผนงบประมาณ และด้านบริหารทั่วไป โดยส่วนกลางควบคุมการเป็นเอกภาพการศึกษา ด้านคุณภาพการศึกษา เป็นค่าที่คณะกรรมการโรงเรียนนิติบุคคลจะกำหนดเอง เป็นต้น ไม่ใช่เอาตัวเลขคะแนนโอเน็ตเป็นตัววัดคุณภาพ มีความเป็นอิสระด้านวิชาการที่จะกำหนดหลักสูตรแกนกลางและท้องถิ่นได้อย่างบูรณาการ เช่น กำหนดกลุ่มงานวิชาการกลุ่มงานวิชาชีพ กลุ่มงานวิชาดำรงชีพ ที่จะทำให้ผู้จบการศึกษาตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่น ไม่เหมือนหลักสูตรปัจจุบันมุ่งผลิตคนไปรับใช้โรงงานของกลุ่มทุน และอีกเรื่องที่ต้องปรับใหม่คือ หน่วยงานที่เหนือโรงเรียนขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องมีมาก เปลืองงบประมาณของกระทรวง เพราะไม่มีส่วนในการสอนเด็ก หล่อหลอมผู้เรียนเลย
เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) กล่าวต่อไปว่า ยกตัวอย่างเช่น ร.ร.บ้านพะเยียวตาสุ (อส.พป.37) ได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2505 บนเนื้อที่ 70 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนานด้วยการระดมทุนและทรัพยากรต่าง ๆ ด้วยการบริจาคทรัพย์สินส่วนตัวมาช่วยกันขับเคลื่อนพัฒนาจนกลายเป็นความรัก ความหวงแหน ความเชื่อมั่นศรัทธาที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้การหล่อหลอมความเป็นตัวต้นกลายเป็นความเข้มแข็งของชุมชน การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2562 ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาควบรวมโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คนลงมานั้น เป็นการไม่ถูกต้องโดยอาศัยช่องทางทางกฎหมายอย่างเดียวโดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์ หรือประชาคมเพื่อให้โอกาสชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เสนอแนะแสดงความคิดเห็นนั้นย่อมไม่สามารถที่จะกระทำได้เพราะเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ซึ่งบัญญัติไว้มีสาระสำคัญว่า รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ การออกกฎหมายที่จะยุบและควบรวมโรงเรียนโดยที่ไม่มีการรับฟังชุมชนผู้มีส่วนได้เสียจึงเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และยังขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 ซึ่งบัญญัติไว้มีสาระสำคัญว่า การดำเนินการใดของรัฐ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชน รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามติดังกล่าวมีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญทำให้มตินี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ทำให้คณะกรรมการสถานศึกษา ร.ร.บ้านพะเยียวตาสุ (อส.พป.37) ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง ครู นักเรียน พระสงฆ์ และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ประชุมประชาคมร่วมกัน เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา มีข้อสรุปและมติไม่ควบรวมโรงเรียนจะช่วยกันบำรุงดูแลรักษาโรงเรียนแห่งนี้ให้อยู่คู่กับชุมชนตลอดไป ร่วมทั้งมีการเรียกร้องไปยังคณะรัฐมนตรีให้มีการทบทวนมติและสนับสนุนอัตรากำลังครู งบประมาณในการพัฒนาเนื่องจากโรงเรียนมีพื้นที่จำนวนมากสามารถที่จะพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพ และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการศึกษาในระดับตำบลและโรงเรียนใกล้เคียงได้หากรัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจในการสนับสนุนการพัฒนามากกว่าการมองกำไรขาดทุนเพราะทรัพยากรมนุษย์ถือว่ามีความสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วยเหตุนี้ ร.ร.บ้านพะเยียวตาสุ(อส.พป.37) พร้อมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงได้แสดงพลัง จุดยืนในทุกรูปแบบภายใต้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกแสดงความคิดเห็นที่ถูกต้องภายใต้กฎหมายและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สะท้อนไปยังผู้มีอำนาจให้ลงมาดูลงมาสัมผัสและร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบัน ร.ร.มี นายศราวุธ วามะกัน เป็น ผอ.ร.ร.ได้มีความมุ่งมั่นทุ่มเทในการพัฒนาในทุกด้านโดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เป็นตามที่สังคมประเทศชาติคาดหวัง และในวันที่ 5 ก.พ. 2563 เวลา 14.50 - 16.30 น. นายสะอาด วงศ์รักษ์ นายอำเภอขุขันธ์ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการจัดทำแผนบริหารจัดการ ร.ร.ขนาดเล็กในเขตพื้นที่ เพื่อออกมาประชาคมรับฟังความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว ปรากฏว่าผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ร่วมกันประชาคมและแสดงความคิดเห็นร้อยละ 100 ให้ดำรงอยู่ (Stand Alone) โดยชุมชนจะร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาปกป้องสถานศึกษาไม่ยุบ ไม่ควบรวมกับโรงใดทั้งสิ้น