รมช.ศธ.ลงพื้นที่เยี่ยมค่ายลูกเสือเมืองดอกบัวงาม หวังปลุกกำลังใจในการทำดี
25 ก.พ. 2563, 11:30
ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายผู้บริหารและบุคลากร สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือจังหวัดอุบลราชธานี (บ้านหนองไหล) เมื่อเร็วๆนี้ ว่า “ ในฐานะที่ตนได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ จึงให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่รับฟังปัญหาด้วยตนเอง เพื่อเห็นสภาพความเป็นจริง เพราะกิจการลูกเสือ เกิดจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระบิดาแห่งลูกเสือไทย จนมาถึงในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 และจวบจนถึงรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีพระราโชบายที่จะสืบสานกิจการลูกเสือให้คงอยู่คู่สังคมไทย โดยตนได้มอบนโยบายและวางแนวทางพัฒนากิจการลูกเสือ โดยดึงลูกเสือมาเข้าสู่โครงการลูกเสือมัคคุเทศก์ (Guide Scout) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อบูรณาการการท่องเที่ยวกับกิจการลูกเสือ รวมทั้งต้องการให้เยาวชนมีจิตสาธารณะ โดยนำหลักสูตรจิตอาสา 904 มาใช้ในการอบรมเพื่อสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร สามารถสะสมเครดิตเพื่อประโยชน์ในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่อต่อยอดการเป็นมัคคุเทศก์มืออาชีพ หรืออาจจะได้เป็นตัวแทนลูกเสือไทยเข้าร่วมโครงการของสำนักงานลูกเสือในระดับนานาชาติต่อไป นอกจากนี้ ตนได้ผลักดันงบประมาณในการพัฒนาค่ายลูกเสือจังหวัด เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับการจัดอบรมลูกเสือ โดยในปีงบประมาณ 2563 จะดำเนินการพัฒนาทั้งค่ายลูกเสือ จำนวน 29 จังหวัด พร้อมทั้งขอตั้งงบประมาณปี พ.ศ. 2564 เพื่อพัฒนาค่ายลูกเสือจำนวน 19 จังหวัด
สำหรับค่ายลูกเสือจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาค่าย จำนวนกว่า 3.6 ล้านบาท ซึ่งเมื่อได้รับงบประมาณแล้ว ขอให้เร่งใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องและเหมาะสม ทันตามกำหนดเวลา และขอฝากให้ครูทุกคน นอกจากจะทำหน้าที่ของครู ที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นผู้นำในเรื่องของความมีระเบียบวินัย และปฏิบัติตามคำปฏิญาณลูกเสือที่ให้ไว้ด้วย โดยเฉพาะการฝึกฝนและปลูกฝังให้เยาวชนยึดมั่นคำปฏิญาณและปฏิบัติตามกฎของลูกเสือด้วยหัวใจ แต่งเครื่องแบบและเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความภาคภูมิใจ รวมทั้งต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย ความเสียสละของพระมหากษัตริย์และบรรพบุรุษไทย พร้อมเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเจริญอย่างยั่งยืน ซึ่งตนยืนยันว่าตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกช่องทาง และยินดีที่จะช่วยผลักดันการพัฒนากิจการลูกเสืออย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดมรรคผลอันดีสำหรับเยาวชนไทย ดังเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ “ดร.กนกวรรณ กล่าว
ในระหว่างการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ ได้มีการอัญเชิญเพลง "ความฝันอันสูงสุด" เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ใน พ.ศ.2514 โดย หรั่ง ร็อคเคสตร้า (นายชัชชัย สุขขาวดี) เป็นผู้ขับร้อง เพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ ผู้บริหาร บุคลากรและผู้บังคับการลูกเสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการปลูกฝังให้ลูกเสือ เนตรนารี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผ่านบทเพลงเพลงพระราชนิพนธ์และกระบวนการลูกเสือ ให้มุ่งมั่นทำประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมือง สร้างความปลาบปลื้มและประทับใจแก่ข้าราชการ ลูกเสือ เนตรนารี ที่มาร่วมรับนโยบายและให้การต้อนรับเป็นอย่างยิ่ง ดร.กนกวรรณ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ เพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2514 โดยพระองค์ท่าน และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทาน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ มีความหมายปลุกใจและเตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี ให้คนไทยรู้สึกเข้มแข็งและรักชาติ รวมทั้ง ประชาชนทั่วไป จึงได้อัญเชิญมาถ่ายทอดในอีกรูปแบบเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีแด่พระองค์ท่านและปลูกฝังแก่เยาวชนลูกเสือ เนตรนารี โดยเนื้อหาเป็นเรื่องของการตั้งปณิธานในการทำความดี รวมทั้งเป็นการร่วมปลุกใจผู้บริหารทางการลูกเสือทุกท่านให้ร่วมส่งต่อและปลูกฝังความคิดเหล่านี้ไปยังคนรุ่นใหม่ ให้พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้มีประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด โดยหวังจะส่งต่อความดีงามเหล่านี้ไปถึงเยาวชนในรุ่นต่อๆไป ในการช่วยกันสร้างและปกป้องชาติ บ้านเมืองของเราไปสู่ความเจริญ พัฒนาสืบไป"