จังหวัดพะเยา จัดกิจกรรมจิตอาสาต้านภัยแล้ง - กิจกรรมสร้างฝายมีชีวิตและขุดลอกฝ่ายพระราชดำริ
28 ก.พ. 2563, 17:22
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายชุติเดช มีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธาน เปิดกิจกรรมจิตอาสาต้านภัยแล้ง การประสานความร่วมมือการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน ณ สนามกีฬากรมทหารราบที่ 17 ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช อําเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยการจัดกิจกรรมในวันนี้เป็นการตรวจความพร้อมการปฏิบัติโดยพร้อมเพียงกันของจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ประกาศภัยแล้งจำนวน 22 จังหวัด โดยมีการตรวจความพร้อมเป็นส่วนรวม ประกอบด้วยการตรวจสายการบังคับบัญชา การตรวจการติดต่อสื่อสารการตรวจยานพาหนะของกองกำลังพลทุกภาคส่วน จำนวนทั้งสิ้น 522 คน หน่วยที่เข้ารับการตรวจความพร้อมจำนวน 17 หน่วยยานพาหนะ 62 คัน, การปล่อยขบวนยานพาหนะหน่วยปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเคลื่อนขบวนออกจากพื้นที่สนามกีฬากรมทหารราบที่ 11 และเดินทางเข้าสู่พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เพื่อดำเนินการปฏิบัติการตามแผนของอำเภอตามที่วางไว้ ตามที่ได้วางแผนเตรียมการปฏิบัติการต่อภัยแล้งไว้แล้ว
โดยการปฏิบัติในทุกขั้นตอน ได้น้อมนำแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานเมื่อครั้งการช่วยเหลือเยาวชนที่พลัดหลงบริเวณถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน แผนการจัดการและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ รวมทั้งทรงมีพระราชดำริ ในเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดินในโครงการที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ดูแล หากจำเป็นต้องมีการขุดบ่อ สระ อ่างเก็บน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในระยะเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ในอนาคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้ใช้พื้นที่ได้ อีกทั้งปัญหาภัยแล้ง เป็นปัญหาส่วนรวม ของประเทศที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา และเน้นให้ประชาชนทุกภาคส่วน และจิตอาสาพระราชทาน ร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สามารถนำพาทุกภาคส่วนที่มีกำลังและยุทโธปกรณ์ รวมถึงงบประมาณที่อยู่ในหน่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ของตนเองได้ในระดับชุมชน และจะเป็นต้นแบบในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากพลังการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
จากนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมกิจกรรม สร้างฝายมีชีวิตและขุดลอกฝ่ายพระราชดำริ หมู่ที่ 10 บ้านป่าซาง ตำบลป่าซาง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามฤดูแล้ง และขุดลอกฝ่ายพระราชดำริ ให้ลึกกว่าเดิม เพื่อกักเก็บน้ำให้มากขึ้น โดยปัจจุบัน ฝายพระราชดำริมีลักษณะตื้นเขินเนื่องจาก มีเศษวัชพืช ดินและทราย พัดมาทับถมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความตื้นเขิน จึงจะต้องสร้างฝายกักเก็บน้ำไว้ต้นทาง เพื่อกักทราย ที่จะไหลลงสู่ฝายพระราชดำริ ป้องกันการทับถมบริเวณฝายพระราชดำริ ต่อไป