หลายคนไม่เคยรู้ ! เปิดประวัติ "พระยาปลัดทองคำ" สามีอันเป็นที่รักของแม่ย่าโม
3 มี.ค. 2563, 13:17
ประวัติของเจ้าพระยามหิศราธิบดี หรือ พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิชัย (พระยาปลัดทองคำ) นั้น ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ เล่าโดยสรุปว่า เมื่อครั้งพระเจ้าอนุวงศ์ ยกลงมาถึงเมืองโคราช บังเอิญเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และพระยาปลัด (ทองคำ) ขึ้นไปราชการเมืองขุขันธ์อยู่แต่ยกกระบัตรเมือง พระเจ้าอนุวงศ์จึงได้เมืองโดยง่าย เจ้าพระยานครฯ รู้ข่าวปรึกษากับพระยาปลัด ให้ลงมาบอกพระเจ้าอนุวงศ์ว่าเจ้าพระยานครฯ หนีไปเมืองเขมรแล้ว แล้วรับอาสาพร้อมทั้งยกกระบัตรว่า จะขอตามเสด็จไปเวียงจันทน์ พระเจ้าอนุวงศ์จึงให้คุมครอบครัวไป ระหว่างทางพวกผู้หญิงอันมีท่านผู้หญิงโมเป็นหัวหน้าก็อุบายเอาใจปรนเปรอพวกลาวจนตายใจ
เมื่อได้โอกาสก็คิดอ่านกัน คุมพวกออกรบกับพวกลาว พวกผู้ชายเป็นปีกซ้ายปีกขวา พระยาปลัดพระยาพรหม (ยกกระบัตร) เป็นกองกลางท่านผู้หญิงโมคุมพวกผู้หญิงเป็นทัพหนุน อาวุธมีทั้งปืน ๙-๑๐ กระบอก ไม้ตะบอง ไม้เสี้ยมเป็นหลาวแหลนเข้าต่อสู้ ฆ่าฟันพวกลาวตายประมาณถึง ๒,๐๐๐ คน
ด้วยความดีความชอบในการปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาปลัด(ทองคำ) เป็น เจ้าพระยามหิศราธิบดี(ยศเฉพาะบุคล) ที่ปรึกษากรมการเมืองอาวุโส รับใช้ราชวงศ์จักรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ส่วนท่านผู้หญิงโม ผู้ภรรยา ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นท้าวสุรนารี โดย ท้าวสุรนารีถึงแก่อนิจกรรมก่อนท่านสามี ในต้นรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๓๙๕) อายุ ๘๑ ปี ส่วนเจ้าพระยาหิศราธิบดี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อใดไม่ปรากฏ
ทั้งนี้ชื่อของ พระยาปลัดทองคำ ยังถูกตั้งเป็นชื่ออำเภอ คือ อำเภอพระทองคำ มีพิธีเททองหล่ออนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2554 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพระทองคำ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติในความกล้าหาญของท่าน ที่ร่วมกอบกู้และขับไล่ศัตรู เพื่อปกป้องเมืองนครราชสีมา
อีกทั้งยังมีรูปหล่อเคารพ ในโรงเรียนมหิศราธิบดี และในวัดศาลาลอย อีกด้วย