"นครพนม" ใช้สายด่วน 1669 เป็นที่รับแจ้งผู้ต้องสงสัยป่วยโรคโควิด 19
4 มี.ค. 2563, 14:18
วันที่ 4 มีนาคม 2563 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้ลงนามหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 2 มีนาคม 2563 ถึงหัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในจังหวัดนครพนม เรื่องแจ้งคำแนะนำสำหรับประชาชนในการเดินทางเข้าออกประเทศไทย และประเทศที่มีการระบาดต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เนื่องจากขณะนี้พบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งยังคงพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นด้วย
ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมีมาตรการที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การสื่อสารความเสี่ยงแก่ประชาชน เรื่องการปฏิบัติตัวในการป้องกันการติดเชื้อโรคดังกล่าว ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการด้านการข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำประกาศคำแนะนำสำหรับประชาชน ในการเดินทางเข้าออกประเทศไทย และประเทศที่มีการระบาดต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563
ด้าน นายแพทย์จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ( สสจ.ฯ ) ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมได้มีมติให้ทาง ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 จังหวัดนครพนม เป็นที่รับแจ้งในกรณีมีข้อสงสัย หรือพบผู้เข้าข่ายต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้แจ้งรายละเอียดต่างๆ จากนั้นไม่เกิน 1 ชม. เจ้าหน้าที่จะไปถึงจุดที่ได้รับแจ้งไว้ทันที เพื่อนำตัวผู้ต้องสงสัยไปตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่เตือนว่าอย่านำเสนอข้อความลงในสื่อโซเชียล เพราะความตื่นตระหนกเกินไป อาจจะทำให้ประชาชนตกใจ ขอให้แจ้งศูนย์ 1669 เพียงแห่งเดียว
นอกจากนี้ สสจ.ฯ ได้ดำเนินการเตรียมฝึกซ้อมแผนตอบโต้ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อม กรณีหากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID-19 ) มีการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 รวมทั้งการประชาสัมพันธ์คำแนะนำสำหรับประชาชนในการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย และประเทศที่มีการระบาดต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งในหน่วยงานราชการและประชาชนทั่วไป การเพิ่มมาตรการในการคัดกรองผู้โดยสารเข้า-ออกจังหวัดนครพนม และรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 “COVID-19" (Coronavirus disease that was discovered in 2019) หรือ “โรคไวรัสโคโรนา-19” ให้ที่ประชุมทราบศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดนครพนม (ศปก.นพ.) ทราบทุกเช้าวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ซึ่งนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดนครพนม ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบผู้ที่แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 “COVID-19” ใน Social Media ในกรณีนำเข้าข้อมูลปลอม ข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ และเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลเท็จ ผู้กระทำมีสิทธิ์เข้าค่ายความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ม.14 (1) และ (5)
“ผมขอยืนยันว่า ณ ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดนครพนม ยังไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 “COVID-19" (Coronavirus disease that was discovered in 2019) หรือ “โรคไวรัสโคโรนา 2019 และทีมงานสาธารณสุขได้บูรณาการปฏิบัติงานอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง จากข้อมูลผลการดำเนินงานเฝ้าระวังผู้เดินทาง ณ จุดคัดกรองผู้เดินทางเข้า – ออกทั้ง 9 แห่ง ในจังหวัดนครพนม ได้แก่ ท่าอากาศยานนครพนม จุดคัดกรองอำเภอบ้านแพง จุดคัดกรองอำเภอธาตุพนม จุดคัดกรองอำเภอท่าอุเทน จุดคัดกรองบ้านหนาด อำเภอเมืองนครพนม ด่านควบคุมโรคสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) และพรมแดนท่าเทียบเรือ จังหวัดนครพนม ไม่พบผู้ป่วยที่ต้องดำเนินการสอบสวนโรค” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวย้ำ
ในส่วนของแนวทางการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) นายแพทย์จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์ สสจ.นครพนม กล่าวว่า ผลที่ตามมาจากการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย ก็คือ 1. มาตรการทางกฎหมาย ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในราชอาณาจักร 2. มาตรการทางกฎหมายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคนอกราชอาณาจักร และ 3. อำนาจของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
การเฝ้าระวังกรณี COVID-19 ถูกประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย เจ้าบ้าน ผู้ควบคุมดูแลบ้าน แพทย์ผู้ทำการักษาพยาบาลที่บ้าน เจ้าของ ผู้ควบคุมสถานประกอบการ สถานที่อื่นใด ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล และผู้ทำการชันสูตร ผู้รับผิดชอบในสถานที่ที่ได้มีการชันสูตร แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสังกัดกรมควบคุมโรค/ในพื้นที่ และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสังกัดกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง นับแต่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุ อันควรสงสัยว่าเป็นโรค และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสังกัดกรมควบคุมโรค/ในพื้นที่ แจ้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/ กทม. พร้อมรายงานข้อมูลให้กรมควบคุมโรคทราบโดยเร็ว
การป้องกันและควบคุมโรค กรณี COVID-19 ถูกประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย มาตรา 34 เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีอำนาจดำเนินการเองและออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดำเนินการ เมื่อเกิดหรือมีเหตุสงสัยว่าเกิด COVID-19 โดย 1.นำผู้ที่เป็น/มีเหตุสงสัยว่าเป็น COVID-19 ผู้สัมผัส พาหะ มารับการตรวจ การชันสูตร แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต 2.ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงมารับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 3.ให้นำศพ/ ซากสัตว์ไปรับการตรวจ จัดการทางการแพทย์ 4.ให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้พักอาศัยในบ้าน โรงเรือน สถานที่หรือพาหนะ กำจัดความติดโรคหรือทำลายสิ่งใดๆ 5.ให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้พักอาศัยในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะ กำจัดสัตว์ แมลง ตัวอ่อนของแมลง 6.ห้ามผู้ใดกระทำการ ดำเนินการซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ 7.ห้ามผู้ใดเข้าไปหรือออกจากที่เอกเทศ 8.เข้าไปในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะที่มีหรือสงสัยว่ามี COVID-19 เกิดขึ้น เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมมิให้มีการแพร่ของโรค
มาตรา 35 ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน มีอำนาจสั่งปิดตลาด สถานประกอบ จำหน่ายอาหาร สถานที่ผลิต จำหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา สถานที่อื่นใด รวมทั้งสั่งให้ผู้ที่เป็น สงสัยว่าเป็น COVID-19 หยุดประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว รวมทั้งสั่งห้ามผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็น เข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา สถานที่อื่นใด และสั่งให้ผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็น COVID-19 หยุดประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว
ในส่วนของบทกำหนดโทษ ความผิดไม่แจ้งว่าพบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคตามหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้ง ไม่นำผู้ที่เป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นโรค ผู้สัมผัส พาหะ มารับการตรวจ การชันสูตร แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต ไม่นำผู้ที่มีความเสี่ยงมารับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้พักอาศัยในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะ ไม่กำจัดสัตว์ แมลง ตัวอ่อนของแมลง กระทำการหรือดำเนินการ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่แจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่พาหนะจะเข้ามาที่ด่านฯ และไม่ยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านฯ เข้าไปในหรือออกจากพาหนะที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจ นำพาหนะอื่นเข้าเทียบพาหนะนั้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านฯ ไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในการตรวจผู้เดินทาง สิ่งของ สัตว์ที่มากับพาหนะ นำวัตถุ สิ่งของ หรือเครื่องใช้ที่เป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นสิ่งติดโรคเข้าไปหรือออกจากพาหนะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านฯ ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
และไม่นำศพ ซากสัตว์ ไปรับการตรวจ จัดการทางการแพทย์ เจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้พักอาศัยในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะ ไม่กำจัดความติดโรคหรือทำลายสิ่งใด ๆ เข้าไปหรือออกจากที่เอกเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ไม่ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเข้าไปในสถานที่หรือพาหนะที่มีหรือสงสัยว่ามีโรคเกิดขึ้นเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมมิให้มีการแพร่ของโรค ขัดคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด/ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่สั่งปิดสถานที่ใด ๆ ห้ามผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคเข้าไปในสถานที่ใด ๆ ทั้งปรับหรือประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว ไม่นำผู้เดินทางซึ่งมากับพาหนะนั้นรับการตรวจในทางแพทย์ ฝ่าฝืนไม่ให้มีการแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ณ สถานที่และระยะเวลาที่กำหนด เข้าไปในหรือออกจากพาหนะหรือที่เอกเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านฯ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เจ้าของหรือผู้ควบคุมพาหนะ ไม่จัดให้พาหนะจอดอยู่ ณ สถานที่ที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านฯ กำหนด ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น ขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการด้านวิชาการ หรือคณะอนุกรรมการ คำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คำสั่งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ได้มีประกาศคำแนะนำดังกล่าว เพื่อระบุแนวทางปฏิบัติ 9 ประการ กล่าวคือ 1) ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศที่กำลังจะเดินทางไปอย่างใกล้ชิด รวมทั้งข้อปฏิบัติของแต่ละประเทศต่อผู้เดินทางจากประเทศไทย 2) ถ้าพบว่ายังมีการระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศนั้น ควรงดการเดินทางหรือเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน 3) หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีความจำเป็นต้องเดินทาง ให้ปฏิบัติตน ดังนี้ หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และหากไปในที่ผู้คนอยู่หนาแน่นหรือรถโดยสารสาธารณะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วยด้วยไข้หวัดหรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ รับประทานอาหารปรุงสุกร้อนสะอาด หลีกเลี่ยงการไปท่องเที่ยวตลาดค้าสัตว์มีชีวิต 4) ระหว่างเดินทาง หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้อื่น หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งสถานทูตไทยประจำประเทศนั้น 5) หลังการเดินทาง ขอให้ร่วมมือในการคัดกรองผู้เดินทางที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และมาตรการการป้องกันควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ซึ่งการคัดกรองที่ด่านฯ ถ้ามีอาการเจ็บป่วยจะต้องถูกส่งไปรับการรักษาในโรงพยาบาลที่กำหนด 6) ในกรณีที่คัดกรองที่ด่านฯ พบว่าไม่มีอาการป่วย ขอความร่วมมือให้สังเกตอาการป่วยอยู่ที่บ้านหรือที่พัก จนครบ 14 วัน โดยให้หลีกเลี่ยงการไปในที่สาธารณะที่มีคนอยู่หนาแน่นโดยไม่จำเป็น เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงเรียน รถไฟฟ้า เป็นต้น งดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดตัว มีพฤติกรรมสุขภาพ เช่น หมั่นล้างมือ ไอจามปิดปากปิดจมูก 7) ภายใน 14 วัน หลังเดินทางกลับมาจากพื้นที่การระบาดต่อเนื่อง หากมีไข้ร่วมกับไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ ให้สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง 8) หากไปพบแพทย์ และได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการในครั้งแรกไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ถ้ามีอาการป่วยมากขึ้นหรืออาการไม่ดีขึ้น ขอให้กลับไปพบแพทย์โรงพยาบาลใกล้บ้านอีกครั้ง และ 9) ติดตามข้อมูลทางการจากเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 1422