ครม.เศรษฐกิจ เคาะมาตรการช่วยเหลือประชาชน-ผู้ประกอบการ สู้พิษ COVID-19
6 มี.ค. 2563, 17:19
วันนี้ ( 6 มี.ค.63 ) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีวาระสำคัญอยู่ที่การพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม ว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบรุนแรงทั่วโลก ไม่ใช่แค่ภาคการท่องเที่ยวยังลามไปถึงภาคการผลิตและบริการ
กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบชุดที่ 1 ระยะสั้นให้กับกลุ่มผู้ประกอบการและประชาชน โดยสนับสนุนเงินโดยตรงให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย , เกษตรกร และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน เบื้องต้นจะช่วยเหลือเดือนละ 1,000 บาท ผ่านระบบอีเพย์เม้นต์ ซึ่งกระทรวงการคลังจะรวบรวมจำนวนผู้เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม คณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า
สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อพยุงธุรกิจและลดปัญหาการเลิกจ้าง โดยมีทั้งหมด 4 มาตรการ ประกอบด้วยมาตรการที่ 1. ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ มาตรการที่ 2 พักเงินต้น ขยายเวลาชำระหนี้ และผ่อนภาระดอกเบี้ย สำหรับลูกหนี้ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ มาตรการที่ 3 ส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้กับลูกหนี้ทุกกลุ่ม รวมถึงผ่อนปรนหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อต่างๆ และลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ผ่อนปรนการชำระเงินขั้นต่ำสำหรับลูกหนี้บัตรเครดิต เป็นระยะเวลา 2 ปี ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และมาตรการที่ 4 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านเงินกองทุนประกันสังคม ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา
นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มความช่วยเหลือ มาตรการทางภาษีอีก 4 ด้าน ประกอบด้วย การคืนสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการในประเทศเพื่อลดภาระชั่วคราว มาตรการลดภาษีลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของเอสเอ็มอี ที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงิน มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน โดยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำรายจ่ายค่าจ้างลูกจ้างมาหักรายจ่ายได้ 3 เท่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-31 กรกฎาคมนี้ และมาตรการเร่งกระบวนการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง หารือกับสำนักงบประมาณ ถึงแนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในภาวะวิกฤติ รวมทั้งไปดูขั้นตอนการเบิกจ่ายงบรัฐให้มีประสิทธิภาพและให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. เร่งส่งเสริมความเชื่อมั่นตลาดทุนเป็นการชั่วคราว โดยปรับหลักเกณฑ์การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF ด้วยการปรับสัดส่วนวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน หรือตลาดหุ้นได้มากกว่าร้อยละ 65 ได้จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 มีระยะถือครอง 10 ปีเช่นเดิม ขณะเดียวกันให้ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.0