"บิ๊กตู่" ถกความก้าวหน้าอีอีซี ย้ำเอกอัครราชทูตประสานข้อมูลลงทุน-สร้างความเชื่อมั่น
6 มี.ค. 2563, 19:04
วันนี้ ( 6 มี.ค.63 ) เวลา 13.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2563 โดยมีวาระสำคัญทั้งความก้าวหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา แผนการบริหารจัดการน้ำ และการส่งเสริมพลังงานสะอาดในพื้นที่อีอีซี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นโครงการที่เน้นการลงทุน ขอให้ทุกคนช่วยการสร้างการรับรู้ ภาพหรือข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปต้องสอดคล้องกับความก้าวหน้าโครงการ ซึ่งหลายโครงการก็ได้พัฒนาไปอย่างมาก ดังนั้น ข้าราชการในต่างประเทศของทุกหน่วยงานโดยเฉพาะเอกอัครราชทูต จะต้องประสานหารือกับภาคธุรกิจ เชิญชวนมาลงทุน ทำหน้าที่เหมือน Point of Sale เสนอข้อมูลรายละเอียดรวมทั้งให้มีช่องทางประสานโดยตรงกับสำนักงานอีอีซี ทุกคนต้องช่วยกันทำงานเป็น Team Thailand รวมทั้งให้รายงานความก้าวหน้าให้นายกรัฐมนตรีทราบอย่างต่อเนื่องด้วย
ทั้งนี้ ในที่ประชุม ได้รายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 (ด้านราคา) จากเอกชนที่ผ่านข้อเสนอซองที่ 2 (ด้านเทคนิค) และมีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ที่เสนอเงินประกันรายได้เป็นผลตอบแทนให้ภาครัฐสูงที่สุด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก และเข้าสู่กระบวนการจะได้ข้อสรุปภายในมีนาคม 2563 เพื่อเสนอร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ครม.พิจารณาต่อไป
สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำใน อีอีซี มีแผนทั้งในระยะสั้นและแผนระยะยาว โดยมาตรการเร่งด่วน คือการเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่อีอีซี ทั้งจากโครงการสูบน้ำกลับคลองสะพาน มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ โครงการผันน้ำคลองหลวง มายังอ่างเก็บน้ำบางพระ และโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ นอกจากนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) จัดทำแผนลดใช้น้ำร้อยละ 10 ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 และการเจรจาซื้อน้ำจากบ่อดินเอกชนเข้าระบบจังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา สำหรับแผน บริหารจัดการน้ำปี 2563 – 2580 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 – 2580 ) ประกอบด้วยแผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน (Supply Side Management) 38 โครงการ วงเงิน 50,691.10 ล้านบาท การบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand Side Management) 12 โครงการ การผลิตน้ำจืดจากทะเล (Desalination) เตรียมพิจารณาการลงทุนในอนาคตกับภาคเอกชนด้วย
ที่ประชุม ฯ ยังเห็นชอบหลักการโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่ อีอีซีโดยจะบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หารือกับกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกยังตั้งเป้าเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณบูรณาการของอีอีซีในช่วงมีนาคม-มิถุนายนให้ได้ 7,000 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 44 พร้อมผลักดันโครงการอบรมระยะสั้นจำนวนมากเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานและผู้ประกอบการไทยในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ด้วย