ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ เก็บกู้ทุ่นระเบิดและสรรพาวุธที่ตกค้าง
11 มี.ค. 2563, 12:25
วันที่ 10 มีนาคม 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า พ.อ.สำเร็จ เนียมศรี หัวหน้าส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์ปฏิบัติการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมคณะประเมินผล ลงพื้นที่จุดเฝ้าตรวจชายแดนที่ 4102 ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เพื่อตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ของหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์ปฏิบัติการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งได้รับมอบภารกิจให้เข้าปฏิบัติการสำรวจ ตรวจค้น เก็บกู้ และทำลายทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม ในพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด บ้านบางท่าบน ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแชะ จังหวัดชุมพร โดยปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งก่อนส่งมอบพื้นที่ได้ทำการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานก่อน ด้วยคณะประเมินผลในครั้งนี้
ร.ต. ธรา ยงยุทธ รอง หน.ชุดปฏิบัติการที่ 1 ส่วนปฏิบัติการฯ เปิดเผยว่า หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์ปฏิบัติการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งได้รับมอบภารกิจให้เข้าปฏิบัติการสำรวจ ตรวจค้น เก็บกู้ และทำลายทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม ในพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด บ้านบางท่าบน ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแชะ จังหวัดชุมพร ขนาดพื้นที่ 3,173,520 ตารางเมตร ซึ่งในพื้นที่ปฏิบัติงานตั้งอยู่ในบริเวณ เนิน 491 และตลอดแนวชายแดน ไทย - เมียนมาร์ ในเขต ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร และการปฏิบัติงานเป็นไปเพื่อมนุษยธรรม ตามพันธกรณี ในอนุสัญญาออตตาวา แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
สำหรับพื้นที่ปฏิบัติการดังกล่าว เมื่อปี 2535 เคยเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงอิสระกับกองกำลังทหารพม่า หลังการสู้รบจบลง มีประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบทุ่นระเบิดในพื้นที่ จนในปี 2544 องค์การความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (NPA) ได้เข้าสำรวจและกำหนดให้เนิน 491 และพื้นที่ใกล้เคียงแนวชายแดนไทย-พม่า เป็นพื้นที่อันตรายจากทุ่นระเบิด (DA) ครอบคลุมพื้นที่ 6,642,950 ตารางเมตร จากนั้นในปี 2557 และปี 2559 ส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ได้เข้าสำรวจพื้นที่และยกเลิกพื้นที่อันตรายให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย 3,469,430 ตารางเมตร เหลือพื้นที่อันตราย 3,173,520 ตารางเมตร
ปี 2562 หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดฯ ประกอบด้วยกำลังพล 38 นาย และสุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิด 2 ตัว ได้เข้าสำรวจ ตรวจค้น เพื่อยกเลิกหรือปรับลดพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดให้แล้วเสร็จ โดยรวบรวมข้อมูลข่าวสารเก่า เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการหาข้อมูลข่าวสารใหม่ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2561 ซึ่งได้พบปะหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ พร้อมจัดเวทีประชุมต่างๆ เพื่อแจ้งเตือนเรื่องทุ่นระเบิดแก่ผู้เข้าประชุม ก่อนตัดสินใจแบ่งพื้นที่ปฏิบัติออกเป็น 5 พื้นที่ย่อยและกำหนดแนวทางสำรวจเป็น 3 ลักษณะคือพื้นที่ๆ คาดว่าน่าจะมีการวางทุ่นระเบิด ที่เคยมีผู้เหยียบทุ่นระเบิด ฐานปฏิบัติการเก่า และเส้นทางดำเนินกลยุทธ์, พื้นที่ๆ คาดว่าน่าจะไม่มีการวางทุ่นระเบิด ที่มีความลาดชันเกิน 60 องศา, และพื้นที่ๆ คาดว่าน่าจะยกเลิกพื้นที่อันตรายได้ เช่น แปลงปลูกป่า พื้นที่ทางการเกษตร เส้นทางล่าสัตว์ของนายพราน
หลังการแบ่งพื้นที่และแนวทางปฏิบัติแล้ว หน่วยปฏิบัติการฯ ได้ร่วมกับตำรวจ ตชด.4102 และเจ้าหน้าที่ป่าไม้จุดสกัดหินเขียว เดินสำรวจทางกายภาพในพื้นที่ เมื่อเดือนมกราคม มีนาคม เมษายน และพฤษภาคม 2562 จนในเดือนกรกฎาคม 2562 ได้ข้อสรุปว่า มีพื้นที่อันตรายที่ยืนยันว่ามีทุ่นระเบิดที่ 1.เนินต้นมะม่วง ขนาดพื้นที่ 27,580 ตร.ม. จึงเข้ากวาดล้างทำลายระหว่างวันที่ 9 ก.ค.-19 พ.ย.2562 ได้ทุ่นระเบิด 106 ทุ่น และกระสุนปืนยิงระเบิดที่ยังไม่ระเบิด 157 นัด 2.เนิน 491 ขนาดพื้นที่ 12,688 ตร.ม. เข้ากวาดล้างทำลายระหว่างวันที่ 25 พ.ย.-2 ม.ค.2563 พบทุ่นระเบิด 70 ทุ่น กระสุนปืนยิงระเบิดที่ยังไม่ระเบิด 21 นัด 3.เนินฐานกะเหรี่ยง ขนาดพื้นที่ 15,690 ตร.ม. เข้ากวาดล้างทำลายระหว่างวันที่ 3 ม.ค.-20 ก.พ.2563 พบทุ่นระเบิด 42 ทุ่น และกระสุนปืนยิงระเบิดที่ยังไม่ระเบิด 4 นัด ซึ่งในวันที่ 24 มีนาคม 2563 จะมีการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดทั้งหมดไปยังสนามทำลาย ณ สวนปาล์มสหไทย ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 25 มีนาคม 2563 ณ ศาลาประชาคม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ต่อไป