"ก.แรงงาน-นายก ส.โรงแรม" ตั้งโต๊ะถกช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม จากพิษ โควิด-19
13 มี.ค. 2563, 16:34
วันนี้ ( 13 มี.ค.63 ) เวลา 13.30 น. ที่สมาคมโรงแรมไทย ถนนราชดำเนินกลาง หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นัดประชุมหารือ กับ นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย และ นางสาวจุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมพลังประชาชาติไทย ตั้งโต๊ะหารือ ช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม หลังนักท่องเที่ยวหดหาย ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังประชุมหารือกับสมาคมโรงแรมไทย ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ขึ้นในหลายประเทศส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรมของไทยกำลังเผชิญกับภาวะการชะลอตัว ปิดกิจการ ไม่มีการจ้างงานลูกจ้างในโรงแรม จากการลดลงของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาชีพอื่นรองรับ และบางส่วน ก็ไม่ได้ตั้งรับกับเหตุการณ์ดังกล่าว
“สิ่งที่กระทรวงแรงงานและ สมาคมโรงแรมไทย เร่งดำเนินการคือ การหารือร่วมกันเพื่อหามาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มโรงแรมไทย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นควรว่า ควรมีมาตรการรองรับช่วยเหลือ รวมทั้งผลักดัน ส่งเสริม กระตุ้นการจ้างงาน ซึ่งจากการรับฟังปัญหาของสมาคมโรงแรมไทย พบว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเร่งด่วนในตอนนี้คือ เรื่องการว่างงาน ซึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างอาชีพธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบหนักที่สุด จึงได้ร่วมกันประชุมเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป” ดร.ดวงฤทธิ์ฯ กล่าว
ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การว่างงานจากผลกระทบดังกล่าว เพื่ออำนวยการประสานงาน และพิจารณามาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบเยียวยาลูกจ้าง และนายจ้าง โดยเน้นย้ำ ให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงแรงงาน ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วนสร้างความพอใจให้กับนายจ้างที่เข้าร่วมหารืออย่างมาก
" เบื้องต้น จะรีบตรวจสอบสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจะบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยกรมการจัดหางานซึ่งมีภารกิจหลักในด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ประชาชนได้กำหนดมาตรการรองรับเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างดังนี้ทมาตรการก่อนมีการเลิกจ้างได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามสถานประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการติดตามสถานการณ์ของสถานประกอบการในพื้นที่ที่รับผิดชอบที่มีแนวโน้มจะเลิกประกอบกิจการหรือเลิกจ้างหรือลดจำนวนลูกจ้างเพื่อเตรียมหาตำแหน่งงานว่างในประเภทกิจการเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันไว้รองรับผู้ถูกเลิกจ้างโดยจะมีการติดตามสถานการณ์เป็นระยะและประสานหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเตรียมการรองรับ มาตรการหลังมีการเลิกจ้างกรณีมีความชัดเจนว่ามีการเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก จะสำรวจความต้องการเบื้องต้นของผู้ถูกเลิกจ้างเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ
ด้านกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะพัฒนาฝีมือแรงงงาน(up skill)ให้ตรงกับความต้องการของนายจ้าง ส่วนประกันสังคม จะสร้างการรับรู้ โดนลงพื้นที่เข้าไปยังสนาประกอบการ และกรมสวัสดิการและคุ้มครอง จะดูแล ตรวจสอบข้อมูลสถานประกอบการในกลุ่มเสี่ยงที่มีการเลิกจ้างงาน " ผู้ช่วยฯกล่าวในตอนท้าย