ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลุยตรวจโรงงานผลิตแมส เจ้าใหญ่ย่านปากเกร็ด ยันไม่มีการการกักตุน
19 มี.ค. 2563, 18:17
เวลา 10.30 น.วันที่ 19 มี.ค. 63 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า เจ้าหน้าที่สอบสวน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้แทนจากกรมการค้าภายใน ลงพื้นที่รับฟังข้อเท็จจริงและตรวจสอบกระบวนการผลิตหน้ากากอนามัยภายในโรงงานบริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัยรายใหญ่ย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อ 19 มี.ค. ขอให้แสวงหาข้อเท็จจริงกรณีความเดือดร้อนของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ อันเนื่องมาจากการไร้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติการจำหน่าย จ่าย แจก หน้ากากอนามัยให้กับสถานพยาบาล ร้านค้า และประชาชนทั่วไปเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน มอบหมายให้ พ.ท.เทพจิต วีณะคุปต์ ผอ.สำนักสอบสวน 4 สน.ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมร้อยตำรวจเอกพงศกร มีพันธุ์ เจ้าหน้าที่สอบสวน ลงพื้นที่ บริษัท ไทยฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัยรายใหญ่ย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี แสวงหาข้อเท็จจริง ในเรื่องการผลิต และการกักตุนสินค้า โดยได้ตรวจดูสถานที่เก็บและผลิตสินค้า นายชินวัฒน์ มธุรพร รองประธานบริหาร และ นายไพศาล จารุรักษา ผู้จัดการโรงงาน ชี้แจงถึงการดำเนินการของบริษัท ว่า ก่อนหน้านี้บริษัทผลิตหน้ากากอนามัยและเครื่องมือแพทย์ส่งออกเป็นสำคัญ คิดเป็นสัดส่วน 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ขายในประเทศเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันขายหน้ากากอนามัยในประเทศให้องค์กรเภสัชกรรมเท่านั้น ไม่ต่ำกว่า 4 แสน ถึง 5 แสน 5 หมื่นชิ้นต่อวัน ซึ่งเพิ่มกำลังการผลิตอย่างเต็มที่ จากที่อดีตที่ผ่านมาโรงงานผลิตวันละ 2 แสนชิ้น ซึ่งราคาจากโรงงานไม่เกินชิ้นละ 2 บาท พร้อมระบุปัจจุบันวัตถุดิบขาดแคลนหายากขึ้น
ผู้บริหารโรงงานหน้ากากอนามัย เปิดเผยด้วย ว่าสำหรับสต๊อกของโรงงานขณะนี้มี 10 ล้านชิ้น เป็นการจ้างผลิตจากลูกค้าต่างประเทศที่มี ตราปั้มเป็นลิขสิทธิ์ที่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งโรงงานยังไม่สามารถส่งออกได้ และไม่สามารถนำหน้ากากมาขายในประเทศได้ เพราะองค์การเภสัชกรรมระบุว่าเป็นสินค้าที่คนไทยไม่ใช่ เป็นหน้ากากเฉพาะ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นภาระจึงอยากให้สังคมและประชาชนเข้าใจ อนาคตธุรกิจอุตสาหกรรมหน้ากากอนามัยในเมืองไทยจะยากขึ้น เพราะราคาต้นทุนที่สูงขึ้นกว่า 10 เท่า ย้ำโรงงานนี้ผลิตหน้ากากอนามัยเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ผลิตทั้งหมด และโรงงานมีหน้าที่ผลิตเพื่อส่งให้องค์การเภสัชกรรมเท่านั้น โดยมีกรมการค้าภายในตรวจสอบอย่างเข้มงวด ส่วนเรื่องการกระจายสินค้าและกักตุนสินค้าเราไม่ทราบ
พ.ท.เทพจิต กล่าวว่าการเดินทางมาในวันนี้ อย่างมองว่าเป็นการตรวจสอบจับผิด วิกฤตที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เราจึงมาเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงว่าหน้ากากหายไปไหน นายชินวัฒน์ ได้ชี้แจงถึงจำนวนการผลิต พร้อมระบุกระบวนการจัดส่งให้องค์การเภสัชกรรมทั้งหมด จะมีเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน จำนวน 4- 6 คน มาควบคุมการผลิตโดยตรงที่โรงงาน ตรวจดูทั้งรถที่ขนส่ง มีใบอนุญาตกำกับ มีระบบคิวอาร์โค๊ตกำกับ เมื่อไปถึงองค์กรเภสัชจะสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้
“เจ้าหน้าที่ของกรมการค้าภายใน จะมาคอยเช็คสต็อกสินค้าด้วยตัวเองไม่สามารถเล็ดลอดออกไปยังพ่อค้าคนกลางได้ หรือมีการซื้อขายหลังโรงงานตามที่เป็นข่าวอย่างแน่นอน ดังนั้นหากมีคนตั้งคำถามว่า หน้ากากหายไปไหน ก็ต้องไปถามที่กรมการค้าภายใน เพราะกรมการค้าภายใน เป็นฝ่ายจัดสรรการผลิตของโรงงานต่างๆจำนวน 11 โรงงาน เพื่อแจกจ่ายให้กับแต่ละหน่วยงาน แต่ยืนยันว่าแม้ทุกโรงงานจะผลิตรวมกันแล้วได้ 12 ล้านชิ้นต่อวัน ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ”นายชินวัตน์ กล่าว
นายชินวัฒน์ ระบุว่าเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสขาดแคลนหน้ากากอนามัย เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตมีต้นทุนสูง และประเทศผู้ผลิตอย่างจีนและใต้หวันก็งดส่งออกวัตุถุดิบ จำเป็นต้องขอร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพราะกรมการค้าภายในยังจำกัดราคาขาย ซึ่งทางบริษัทขายให้กรมการค้าภายในต่ำว่า 2 บาทต่อชิ้น และวัตถุดิบของบริษัทที่มีอยู่สามารถผลิตไปถึงเดือนเมษายนเท่านั้น และยังไม่กล้าสั่งวัสดุมาตุน เพราะราคาที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่า และแม้แต่จะเพิ่มจำนวนแรงงานที่เป็นแรงงานพม่ายังทำได้ยาก
ส่วนสินค้าส่งออกกว่า 10 ล้านชิ้นที่ค้างอยู่เนื่องจากไม่สามารถส่งออกได้นั้น นายชินวัฒน์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา บริษัทถูกห้ามส่งหน้ากากอนามัย แม้จะเป็นแบบที่ไทยไม่ได้ใช้ และเป็นสินค้าซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ ซึ่ง พ.ท.เทพจิต ได้ตั้งข้อสังเกตและเสนอว่า มีความเป็นไปได้ที่จะนำหน้ากากลิขสิทธิ์ที่ค้างสต๊อก ออกมาจำหน่ายเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในภาวะวิกฤต ซึ่งทางผู้บริหารบริษัท ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เพียงแต่ขอให้ภาครัฐมีมาตรการให้ชัดเจน เพราะสินค้าบางชิ้น ติดเครื่องหมายการค้าของบริษัทอื่น ๆ หรือติดสัญญากับต่างประเทศ และรัฐบาลควรเข้ามามีส่วนในการเจรจา เพราะในอนาคตบริษัทที่เป็นผู้ว่าจ้างก็จะลด และไปจ้างบริษัทอื่น
สำหรับการตรวจสอบดังกล่าว เนื่องจากนายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้แสวงหาข้อเท็จจริง กรณีความเดือดร้อนของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ที่ขาดแคลนหน้ากากอนามัยในสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิท -19