เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



หมอธีระวัฒน์ แนะควรปิดประเทศ เพราะเวลาเหลือน้อย หมอไม่พอ สถานที่ไม่พอ


20 มี.ค. 2563, 13:34



หมอธีระวัฒน์ แนะควรปิดประเทศ เพราะเวลาเหลือน้อย หมอไม่พอ สถานที่ไม่พอ




 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึง 3 สาเหตุสำคัญที่ต้องปิดประเทศและปิดบ้าน เนื่องจากยังไม่มียาที่จะใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ได้ แม้ก่อนหน้านี้จะมีหลายประเทศออกมาระบุว่าผลิตตัวยาได้แล้ว แต่สุดท้ายก็ยังไม่เป็นผล มีเพียงยาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย และยาที่จีนกับญี่ปุ่นผลิตได้ แต่ก็มีจำนวนไม่มาก และคน 1 คน ต้องใช้ยามากถึง 70 เม็ด

ขณะที่ ระบบสาธารณสุข กายภาพ อุปกรณ์ และกำลังคนก็ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเตียงแยกอาการหนัก ที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิต และก่อให้เกิดละอองที่จะทำให้เกิดการติดต่อทางการหายใจ ซึ่งควรจะต้องเป็นห้องความดันลบจริง ๆ ซึ่งทั้งประเทศมีอยู่กว่า 100 ห้อง และกระจัดกระจายอยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ แห่งละไม่มาก พร้อมตั้งคำถามว่าตอนนี้ห้องที่ดัดแปลง ห้องแยกอื่น ๆ ห้องไอซียู เครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์ช่วยชีวิต มีเพียงพอหรือไม่ และยังบอกด้วยว่าห้องเหล่านี้ในโรงพยาบาลหลายแห่งใช้เครื่องปรับอากาศรวม ถ้ามีการใช้อุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดการติดต่อทางการหายใจ จะสามารถแพร่กระจายไปในวงกว้าง

ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ มีหมอทั่วประเทศไม่ถึง 30,000 คน เป็นหมอเฉพาะทางด้านการติดเชื้อทางปอด และภาวะวิกฤตเพียงแค่ 1,000 คน หรืออาจจะน้อยกว่า และถ้าเกิดเหตุวิกฤต เอาหมอทั่วไปที่ไม่ชำนาญในการดูแลคนไข้และการใส่ชุดปกป้องตัวเองมาช่วย แทนที่จะช่วยได้ อาจจะติดโรคและกลายเป็นภาระให้ต้องรักษาต่อ ด้านพยาบาล นักวิทยาศาสตร์ นักเทคนิคการแพทย์ ยิ่งไม่เพียงพอ เพราะขณะนี้งานหนักมหาศาลอยู่แล้ว คนไข้แออัดเต็มวอร์ด เต็มห้องไอซียู และครองเตียง ครองเครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์ช่วยชีวิตไปหมดแล้ว

เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่คุณหมอมองว่าควรปิดประเทศ เนื่องจากตอนนี้เป็นวาระสุดท้ายที่ต้องก้าวนำเชื้อโรค ไม่ให้เกิดวิกฤตรุกล้ำเข้าไปในระบบสาธารณสุขมากกว่านี้ เพราะถ้ายังคงก้าวตามหลัง ดูตามตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต โดยไม่ได้ตระหนักว่าโรคนี้เป็นการติดต่อจากคนสู่คนเป็นลูกโซ่ จะทำให้ยากที่จะจำกัดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ใกล้ชิด เนื่องจากผู้ติดเชื้อที่เป็นหนุ่มสาวแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว จะเป็นคนแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ระหว่างการเดินทางด้วยรถสาธารณะ หลังเวลาทำงาน สามารถแพร่ระหว่างกลุ่มคนอีกมากมาย และเมื่อเชื้อแพร่เข้าไปในกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งจะมีการแสดงอาการออกมาน้อย




 ครึ่งประเทศ รอให้ติด เพื่อมีภูมิคุ้มกันหมู่จะเอาโมเดลไหน   ซึ่งภาคธุรกิจขนาดใหญ่เท่าที่ทราบ พร้อมเข้าช่วยรัฐบาลในช่วงปิด 21 วัน โดยกฎอัยการศึก และคนรายได้น้อยต้องไม่ถูกกระทบ ถ้าคนอย่างน้อยครึ่งประเทศติดเชื้อถ้าไม่ตายไปเสียก่อน ก็จะมีภูมิคุ้มกันและเริ่มทำให้ประเทศปลอดภัย 

“จำได้หรือไม่วิธีการเช่นนี้ คือ วิธีการเดียวกันกับที่เราต้องฉีดวัคซีนให้หมาทั่วประเทศอย่างน้อย 60% เพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้านั่นคือการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ใน covid 19 เมื่อติดเชื้อ คน 80% อาการน้อยหายเอง และจะเป็นหนุ่มสาวที่ไม่มีโรคประจำตัว แต่กลายเป็นคนแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพ (แต่เจอจังๆ ตายได้) 20% ที่เหลือมักจะเป็นคนสูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมีโรคประจำตัว ถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาล อัตราตายอาจสูงถึง 20-50% ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า  ยกตัวอย่างโมเดล 1. ถ้าปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติตามยถากรรมไม่มีการควบคุมแน่นอนไม่มีทรัพยากรในการรักษาได้ทั่วถึง จะสงบได้โดยเร็วแต่เสียชีวิตมหาศาล ระบบสาธารณสุขย่อยยับ เจ้าหน้าที่เสียหายมหาศาล 2. ควบคุมเท่าที่จะทำได้ตามระดับ โดยหวังให้ประชาชนมีวินัย งดการชุมนุม รวมกลุ่ม สถานบริการสถานบันเทิงรวมทั้งควบคุมโรงงานมีการทำงานแออัด  งดเทศกาลทุกชนิดป้องกัน จำกัดการแพร่ในที่สาธารณะ ซึ่งกรณีนี้แบ่งเป็น 


2.1 ควบคุมอย่างเข้มงวดโรคจะไหลไปเอื่อยๆ จนประมาณ 7-9 ปีหรือเมื่อมีวัคซีน แต่หมายความว่าทุกคนจะต้องถือสันโดษตลอด
2.2 ควบคุมได้ระดับหนึ่งไม่เท่ากับ 2.1 โรคจะปะทุขึ้นอย่างรุนแรงภายใน 2 ปี  และสงบเพราะในแต่ละเดือนจะต้องยอมให้เกิดคนติดเชื้อ 30 ล้าน คน หารด้วย 24เดือน แต่ละเดือนจะมีคนติดเชื้อเป็นแสน และความเสียหายจะเห็นได้แบบเดียวกับข้อหนึ่ง แม้จะน้อยกว่าบ้าง

“3. มาตรการเข้มปิดบ้าน ปิดประเทศshelter in place 21 วัน พันระยะฟักตัวและระยะแพร่เชื้อ สำหรับคนที่มีอาการน้อย ซึ่งจะหายเองทั้งหมดโดยไม่ต้องมีการรักษาใดๆ แต่ถ้าอาการมากก็รีบรับตัวเค้าไปรักษาที่โรงพยาบาล มาตรการนี้ทำสำเร็จในประเทศจีน แม้ว่าจะทำหลังจากที่มีการระบาดมหาศาลในประเทศแล้วก็ตาม มาตรการนี้จะทำให้ประเทศสะอาดและกลับมาดำเนินชีวิตมีเทศกาลได้ “ใกล้เคียงแต่ไม่ถึงกับปกติ” ภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยยังต้องมีระยะห่าง 2 เมตรทั้งการทำงานในสถานที่ทำงาน ในโรงงาน ในรถโดยสารสาธารณะแต่ทำให้มีความเชื่อมั่นจากทั้งในและนานาประเทศและสามารถที่จะเลือกนักท่องเที่ยวจากพื้นที่ใดก็ได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  มาตรการนี้ไม่ใช่มาตรการที่ทำไม่ได้ทางเพราะภาคธุรกิจเอกชนพร้อมที่จะให้คำแนะนำและช่วยรัฐบาลอย่างเต็มที่ในขณะที่ดำเนินการอยู่ และต้องคำนึงถึงคนที่หาเช้ากินค่ำเป็นอันดับแรก ประการสำคัญก็คือ มาตรการนี้หลังจาก 21 วัน  จะมีกระบวนการตรวจคนที่ติดเชื้อไปแล้ว หรือคนที่ติดเชื้อใหม่ได้อย่างรวดเร็วและราคาถูกกว่าที่ปฏิบัติกันอยู่ ณ ขณะนี้ และป้องกันไม่ให้มีระลอกที่ 2 ที่ 3 เกิดขึ้นมาอีก สู้ร่วมกัน ไม่งมงาย ศึกษาข้อมูล

 


ขอบคุณภาพจาก : Facebook ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.