เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



23 มีนาคม วันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี สตรีแกร่งแห่งโคราช


23 มี.ค. 2563, 12:31



23 มีนาคม วันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี สตรีแกร่งแห่งโคราช




 


วันนี้(23มีค63)ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือคุณย่าโม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดนครราชสีมา เนื่องในวันฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารีประจำปี 2563 พร้อมถวายผ้าสไบเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่สีเหลืองทองและนำส่วนราชการร่วมวางพวงมาลา เพื่อเป็นการสักการะดวงวิญญาณท้าวสุรนารี และ นางสาวบุญเหลือ หรือ ย่าเหลือ รวมทั้งเหล่าดวงวิญญาณวีรสตรีผู้กล้าที่มีส่วนสำคัญ ในการกอบกู้เมืองนครราชสีมาร่วมกับ ท้าวสุรนารี 


สำหรับกิจกรรมงานวันฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี กำหนดการเดิมกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 มีนาคม-3เมษายน ของทุกปี โดยกำหนดเดิมจะมีการรำบวงสรวงด้วย แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงได้มีการเลื่อนการจัดของออกไปอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะคลี่คลาย

 


 



 

สำหรับประวัติ คุณย่าโม หรือ ท่านท้าวสุรนารี เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีระกา พ.ศ. 2314 มีนิวาสถานหรือ บ้าน อยู่ตรงกันข้ามกับวัดพระนารายณ์มหาราช หรือ วัดกลางนคร ทางทิศใต้ของเมืองโคราช

ตามประวัติ คุณย่าโม เป็นลูกสาว คนที่สอง ของนายกิ่มและนางบุญมา มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ แป้นาผล มีน้องชายหนึ่งคน ชื่อ จุก ซึ่งภายหลังน้องชาย ได้เป็นเจ้าเมืองพนมซร็อก ต่อมามีการอพยพชาวเมืองพนมซร็อกมาอยู่ริมคูเมืองนครราชสีมาด้านใต้ จึงเอาชื่อเมืองพนมซร็อกมาตั้งชื่อ บ้านพนมศรก ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น บ้านสก อยู่หลังสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระนั่นเอง

เมื่อปี พ.ศ. 2339 คุณย่าโม อายุ 25 ปี ได้แต่งงานสมรสกับนายทองคำขาว สามีเป็นพนักงานกรมการเมืองนครราชสีมา ซึ่งต่อได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระภักดีสุริยเดช” ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา คุณย่าโม จึงได้เป็น คุณนายโม หลังจากนั่นอีกไม่นาน สามีคุณย่าได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาสุริยเดช” ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณย่าโม จึง ได้เป็น คุณหญิงโม 

ด้วยเหตุที่คุณย่าโม และสามี ไม่มีทายาทสืบสายโลหิต เพราะเป็นหมัน ชาวบ้านเมืองนครราชสีมาทั้งหลายจึงพากันเรียก แม่ แทนตัวคุณหญิงโม มีผู้มาฝากตัวเป็นลูก-หลานกับคุณย่าโม มากมาย ซึ่งเป็นกำลังและอำนาจส่งเสริมคุณย่าโมให้ทำการใด ๆ ได้สำเร็จเสมอ

พุทธศักราช 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เป็นกบฏต่อกรุงเทพมหานคร เจ้าอนุวงศ์ออกอุบายแก่เจ้าเมือง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เจ้าอนุวงศ์เกณฑ์กองทัพเวียงจันทน์ลงมาช่วยทำศึก เจ้าเมืองตามรายทาง เช่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น สุรินทร์ ขุขันธ์ หลงเชื่อและให้การสนับสนุนเจ้าอนุวงศ์ ยอมให้เดินทัพผ่านโดยสะดวก และมอบเสบียงอาหารให้เพิ่มเติมด้วย จนกระทั่งทัพเวียงจันทน์มาถึงนครราชสีมา ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมากวาดต้อนชาวเมืองและยึดทรัพย์สินจากนครราชสีมา

คุณย่าโม เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกวาดต้อนไปด้วย ก็ออกอุบายขอให้ผ่อนให้ควบคุมไปช้า ๆ เพื่อรอให้บรรดาชาวเมืองไปให้ทันกัน ครั้นถึงทุ่งสัมฤทธิ์ คุณย่าโม ร่วมกับ นางสาวบุญเหลือ และหลวงณรงค์สงคราม หัวหน้าชาวเมือง ได้ใช้กลอุบาย ให้ชาวเมืองเลี้ยงสุราอาหารแก่ทหารลาว  เมื่อทหารเจ้าอนุวงศ์หลงกลกินเหล้าเมายาจนขาดสติเกือบหมดกองทัพ เป็นโอกาสเหมาะ ชาวนครราชสีมา ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ทั้งชาย และหญิง ก็แย่งอาวุธโจมตีเข่นฆ่าทหารลาวจนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้กอบกู้อิสรภาพ ของเมืองนครราชสีมาสำเร็จ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2369 

เมื่อความทราบไปถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณย่าโม หรือคุณหญิงโม ขึ้นเป็น ท้าวสุรนารี เมื่อ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 ซึ่งมีอายุได้ 57 ปี พร้อมกับพระราชทานเครื่องยศ มี ถาดทองคำใส่เครื่องเชี่ยนหมาก 1 ใบ, จอกหมากทองคำ 1 คู่, ตลับทองคำ 3 ใบเถา, เต้าปูนทองคำ 1 ใบ, คนโท และขันน้ำทองคำอย่างละ 1 ใบ

 

และอีกหนึ่งความทรงจำที่ประชาชนชาวโคราช ไม่มีวันลืม นั่นคือ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2524 เวลา 14.00 น. ในหลวงรัชกาลที่ 9  และสมเด็จพระราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ในโอกาสนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานบรมราโชวาทมีความตอนหนึ่งว่า ท้าวสุรนารี เป็นผู้ที่เสียสละเพื่อให้ประเทศชาติได้อยู่รอดปลอดภัย ควรที่อนุชนรุ่นหลัง จะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน บ้านเมืองทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน การหวงแหน คือ ต้องสามัคคี รู้จักหน้าที่ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ชาวนครราชสีมาได้แสดงพลังต้องการ ความเรียบร้อย ความสงบ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชาติกลับปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าสถานการณ์รอบตัวเราและรอบโลก จะผันผวนและ ล่อแหลมมาก แต่ถ้าทุกคนเข้มแข็ง สามัคคี กล้าหาญ และเอื้อเฟื้อต่อกันชาติก็จะมั่นคง
 

 

นับตั้งแต่ปี 2477 เป็นต้นมา ชาวจังหวัดนครราชสีมา จึงได้จัดงาน วันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี ทุกวันที่  23 มีนาคม ของทุกปี เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของท้าวสุรนารี ซึ่งสมัยก่อนจะมีการแสดงมากมาย ทั้ง ลิเก, หนังกางแปลง, โขน , ชกมวย , งิ้ว เป็นต้น  มีร้านเล่นเกมส์ชิงโชค , บอลโต๊ะ  ,ซุ้มโชว์งู  ,ชิงช้าสวรรค์ และอีกมากมาย 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.