ประกันสังคม เตรียมเสนอ จ่ายเงินชดเชยลูกจ้างที่ตกงานจากพิษโควิด-19
24 มี.ค. 2563, 16:06
นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คณะกรรมการประกันสังคมมีมติให้จ่ายเงินชดเชยลูกจ้าง ในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 7,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน แต่ทางผู้บริหารยังมีความกังวลอยู่ว่า เงินจำนวนนี้จะเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหรือไม่ จึงอาจจะพิจารณาให้เพิ่มมากกว่านี้ โดยจะมีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ขณะที่การลงทะเบียนผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 สามารถทำได้ทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม เหมือนกับการลงทะเบียนการว่างงานกรณีอื่น ๆ
ส่วนสิ่งที่ประชาชนมีความเข้าใจผิด และสงสัยกรณีบอร์ดประกันสังคม มีมติเพิ่มอัตราการจ่ายเงินชดเชยการขาดรายได้กรณีว่างงาน 2 กรณี คือ ผู้ประกันตนลาออก รับเงินกรณีว่างงาน ร้อยละ 45 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน (บังคับใช้ 2 ปี) และผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง รับเงินกรณีว่างงาน ร้อยละ 70 ของค่าจ้างไม่เกิน 200 วัน (บังคับใช้ 2 ปี) ซึ่งมติในส่วนนี้ สำหรับกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคโควิด-19
ขณะที่ เฟซบุ๊กเพจ "ไทยคู่ฟ้า" โพสต์ข้อความ เตือนให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จนต้องถูกเลิกจ้างงาน และเป็นผู้ส่งเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ขอให้รีบลงทะเบียนใช้สิทธิกรณีว่างงาน ได้ที่ https://empui.doe.go.th ภายใน 30 วันหลังจากถูกเลิกจ้าง โดยจะได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้างที่เคยได้รับในระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นระบบที่ให้บริการแก่คนหางานที่เป็นผู้ประกันตนกรณีว่างงาน ที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน ซึ่งคนหางานที่จะได้รับสิทธิผู้ประกันตนกรณีว่างงาน จะต้องเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน โดยระบบจะอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนและรายงานตัวของผู้ประกันตนกรณีว่างงาน ให้สามารถขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้
โดยข้อมูลของผู้ประกันตนกรณีว่างงาน จะได้รับการตรวจสอบข้อมูลจากกรมการปกครอง เพื่อยืนยันตัวบุคคลในการใช้บริการในระบบดังกล่าวผ่านอินเทอร์เน็ต และยังสามารถออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน สำหรับใช้เป็นหลักฐานยืนยันในการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในการขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533