คนตกงาน ช่วงโควิด-19 ประกันสังคม ชดเชย 7,500 บาท มีขั้นตอนดังนี้
25 มี.ค. 2563, 15:21
วันที่ 25 มีนาคม 2563 รายงานว่า นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกันจากสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 กรณีนายจ้างไม่ให้ผู้ประกันตนมาทำงาน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องกักตัว 14 วัน รวมถึงกรณีนายจ้างที่ต้องหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของภาครัฐ ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถมาทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง
โดย สำนักงานประกันสังคม มีการเพิ่มช่องทางการให้บริการเป็นกรณีพิเศษให้กับผู้ประกันตน ในการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยนี้ ซึ่งสามารถยื่นลงทะเบียนได้ทางเว็ปไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หัวข้อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน online (e-form for sso benefits)
ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องกรอกแบบเพื่อยืนยันรับรองการปิดกิจการชั่วคราวจากเหตุสุดวิสัยดังกล่าวด้วย ผ่านช่องทางเดียวกับผู้ประกันตน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ หรือโทร. 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
สำหรับขั้นตอนการยื่นเอกสารขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้...
1. กรณีภาครัฐ มีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว ประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้ประกันตนกรณีว่างงาน ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกิน 7,500 บาท สืบเนื่องจากคำสั่งปิดสถานประกอบการชั่วคราว ผู้ประกันตนยื่นคำขอรับประโยชน์อื่น ๆ ทดแทน (สปส.2-01/7) (ไม่ต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน)
- กรณีนายจ้างไม่ให้ทำงานเพื่อกักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด 19 ชั่วคราว นายจ้างต้องรับรองการเป็นลูกจ้าง และวันที่ลูกจ้างไม่สามารถไปทำงานได้ ซึ่งช่องทางการยื่นคำขอผู้ประกันตนและนายจ้างยื่นแบบ e-form บนเว็บไซต์ www.sso.co.th
2. ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากโควิด 19 ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกิน 7,500 บาท มีรายละเอียดดังนี้...
- ผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน รายงานตัวเดือนละ 1 ครั้ง บนเว็บไซต์ www.empui.doe.go.th ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนว่างงาน (สปส.2-01/7) e-form บนเว็บไซต์ www.sso.co.th
หรือสามารถยื่นเอกสารผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ดังนี้...
1. ยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงานประกันสังคมได้ทั่วประเทศ
2. ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ตอบรับ
3. ส่งทางโทรสาร (FAX) ของสำนักงานประกันสังคมพื้นที่/ จังหวัด/ สาขา
4. ส่งทาง e-mail หรือสำนักงานประกันสังคมพื้นที่จังหวัด/ สาขากำหนด
5. ส่งทางไลน์ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่/ จังหวัด/ สาขากำหนด
ส่วนกรณีลูกจ้างถูกนายจ้างบังคับให้เซ็นใบลาออก ในช่วงสถานการโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรน่า ระบาด ว่ากรณีนี้เป็นการลาออกโดยไม่สมัครใจ จึงมองตามข้อเท็จจริงว่าการลาออกเป็นไปด้วยความไม่ชอบ ทั้งนี้ กรณีที่ลาออกหรือขอพักงาน 14 วัน เหตุกังวลในเรื่องของปัญหาสุขภาพ เพราะไม่มั่นใจว่าติดเชื้อโควิด 19 แล้วหรือไม่ ซึ่งขอให้มีการพูดคุยกับนายจ้างก่อน โดยชี้แจงเหตุผลและความจำเป็น หรือใช้สิทธิส่วนอื่นที่มี เช่น สิทธิ์ในการลาป่วย หรือลาพักร้อน
หากนายจ้างมีคำสั่งให้หยุดงานเอง เนื่องจากมองเห็นแล้วว่าหากมาทำงานแล้วจะเกิดผลกระทบ นายจ้างไม่มีสิทธิ์หักเงิน หรือหักสวัสดิการต่าง ๆ คือจะต้องเป็นการหยุดงานโดยยังได้รับเงินเดือนตามปกติ