ศูนย์ปฏิบัติการฯ จัดทำลายทุ่นระเบิดที่เก็บกู้ได้จากพื้นที่เนิน 491 ก่อนส่งมอบพื้นที่ปลอดภัยคืนจังหวัดชุมพร
25 มี.ค. 2563, 16:18
วันนี้ (25 มี.ค. 63) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลโท สิทธิพล นิ่มนวล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานในการทำลายทุ่นระเบิด และสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด ซึ่งเก็บกู้จากพื้นที่ปฏิบัติงานบริเวณเนิน 491 และตลอดแนวชายแดน ไทย - เมียนมาร์ ในเขต ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร โดยได้เคลื่อนย้ายมายังพื้นที่ทำลายทุ่นระเบิดชั่วคราว บ้านตาหงษ์ หมู่ที่ 4 ตำบลหงษ์เจริญ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ซึ่งภายหลังจากการทำลายทุ่นระเบิดที่เก็บกู้ในพื้นที่ ได้ทำการส่งมอบพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดให้กับอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ณ ศาลาประชาคมอำเภอท่าแชะ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชุมพร เข้าร่วมสังเกตการณ์และเป็นสักขีพยานด้วย
สำหรับพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดดังกล่าว มีขนาด 6,924,647 ตารางเมตร หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ได้เข้าดำเนินการสำรวจ เก็บกู้ และกวาดล้างทุ่นระเบิดตั้งแต่ ตุลาคม 2561 แล้วเสร็จใน เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผลการปฏิบัติงาน สามารถเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลชนิดต่างๆ จำนวน 159 ทุ่นประกอบด้วย LTM - 76 จำนวน 133 ทุ่น M14 จำนวน 17 ทุ่น M26 จำนวน 3 ทุ่น M2A1จำนวน 1 ทุ่น M161 จำนวน 5 ทุ่น และทุ่นระเบิดแสวงเครื่อง จำนวน 59 ทุ่น รวมทั้งสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิดจำนวน 76 รายการ ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ได้ตรวจสอบประเมินผลความปลอดภัยของพื้นที่ตามมาตรฐานการปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว
การดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่ตกค้างจากการสู้รบในอดีต ซึ่งถือเป็นพันธกรณีของประเทศไทย ในฐานะรัฐภาคีของ อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า อนุสัญญาออตาวา" ซึ่งกองบัญชาการกองทัพไทย โดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติๆ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2542 ภารกิจดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่เป็นอันตรายจากทุ่นระเบิดแล้วการส่งมอบพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดให้กับส่วนราชการและชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมอีกด้วย กองบัญชาการกองทัพไทย มีความมุ่งมั่นที่จะเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดไปจากประเทศไทยภายใน พ.ศ.2566