เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.1-ปลัดมท. ประชุมผู้ว่าฯทั่วปท.ปฏิบัติตามข้อกำหนดฯในสถานการณ์ฉุกเฉิน เน้นสกัดโควิด-19


26 มี.ค. 2563, 19:55



มท.1-ปลัดมท. ประชุมผู้ว่าฯทั่วปท.ปฏิบัติตามข้อกำหนดฯในสถานการณ์ฉุกเฉิน เน้นสกัดโควิด-19




วันนี้ ( 26 มี.ค.63 ) เวลา 14.30 น. ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกรุงเทพมหานคร โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) ไปยังศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งมี ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 โดยมีผลตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันนี้ เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้มีการแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ซึ่งมีผลตั้งแต่วันนี้ (26 มี.ค.63) ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดฯ รวมทั้งบูรณาการทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และขอให้ทุกจังหวัดได้รวบรวมประกาศจังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ใช้อำนาจในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่ได้มีผลใช้บังคับก่อนข้อกำหนดดังกล่าว มายังกระทรวงมหาดไทย เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงข้อสั่งการในที่ประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 ดังนี้ การดำเนินการตามมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดในพื้นที่ (Social Distancing) อาทิ การเฝ้าควบคุม สังเกตอาการผู้กักกันตัวเอง ณ ที่พำนัก (Home Quarantine) ทุกกลุ่ม การจัดตั้งจุดควบคุมโควิด-19 โดยร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ การจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนเร็วเพื่อควบคุมการจัดกิจกรรมที่รวมคนจำนวนมาก การสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการตามมาตรการสกัดกั้นการนำเชื้อเข้ามาในประเทศไทยในพื้นที่ด่านทางบก และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ตามข้อสั่งการ ศบค. ได้แก่ พื้นที่ที่ต้องยกระดับความเข้มข้นทุกมาตรการตาม พรก.การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (กรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล ชลบุรี เมืองพัทยา ระยอง หัวเมืองใหญ่ในภูมิภาค) และพื้นที่ที่มีการปิดพื้นที่และควบคุมการจัดการภายใน (จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และภูเก็ต)

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลประชาชนผู้เดินทางจากกรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล ต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน และพื้นที่เสี่ยง ที่เข้ามาในหมู่บ้าน/ชุมชน ทั่วประเทศ ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำระบบการรายงานข้อมูล ผ่านแอปพลิเคชั่น Thai Quarantine Monitor (Thai QM) ซึ่งปัจจุบันทีมดำเนินการคัดกรอง แยกกัก กักกัน ระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ได้สำรวจพื้นที่และพบตัวบุคคลที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ระหว่างวันที่ 22 – 25 มีนาคม 2563 จำนวนกว่า 5 หมื่นคน และได้เข้าสู่กระบวนการเฝ้าสังเกตอาการ ณ ที่พำนักของตนเองตามมาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำแอปพลิเคชัน AOT Airport Application สำหรับติดตามการกักตัวของบุคคลกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ผ่านระบบ GPS แบบ Realtime อีกด้วย จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับนายอำเภอ เน้นย้ำกลไกท้องที่และท้องถิ่น ในการดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อการป้องกันและเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพ

จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ได้รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ในพื้นที่จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดมาก สุดท้าย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เน้นย้ำว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่การแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกตอาการ อย่างเข้มงวด และให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกายจากการทักทายหรือทำกิจกรรมร่วมกับคนหมู่มาก รวมถึงการขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้าน ลดการเดินทาง เพื่อสกัดกั้นและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ให้แพร่กระจายในวงกว้าง









Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.