เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



โคราชเจ๋ง ! ทำห้องตรวจคัดกรองเชื้อความดันลบ  แบบเคลื่อนที่ พร้อมมีห้องพักผู้ป่วย


3 เม.ย. 2563, 14:22



โคราชเจ๋ง ! ทำห้องตรวจคัดกรองเชื้อความดันลบ  แบบเคลื่อนที่ พร้อมมีห้องพักผู้ป่วย




 

สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง (COE)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ บริษัท อีคิว เทค เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ช่วยกันฝ่าวิกฤติเชื้อไวรัส COVID-19 กับชาวจังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทย ใช้องค์ความรู้จากห้องปฏิบัติการทดลอง ระดมนักศึกษา นักวิจัย ร่วมออกแบบและติดตั้งห้องตรวจคัดกรองเชื้อความดันลบ (negative pressure) แบบเคลื่อนที่ พร้อมห้องพักผู้ป่วย และเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ ช่วยลดความเสี่ยง ป้องกันการติดเชื้อ มอบให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมเผยแพร่แบบแปลนแก่ผู้สนใจ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งเพื่อฝ่าวิกฤติ COVID-19 ไปด้วยกัน 

 

 

 

 

 

 

 




รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. เปิดเผยว่า “จากสถานการณ์แพร่ระบาดในช่วงวิกฤติของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ ประเทศไทยและทั่วโลกอยู่ในภาวะที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจ เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด และเป็นที่รับทราบถึงสภาวะความขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ข้อจำกัดในการหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมาก  ประกอบกับได้รับโจทย์ทางการแพทย์จาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สิงห์ดง รองคณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มทส. ในการใช้สหวิทยาการบูรณาการองค์ความรู้และใช้ทรัพยการที่มีอยู่ในการประยุกต์ใช้งานด้านวิทยาการแพทย์ในสภาวะไม่ปกตินี้ ทีมวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง (COE) มทส. ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร. สันติ แม้นศิริ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ พบว่า การปฏิบัติงานภายในห้องปฏิบัติการ Clean room เพื่อศึกษาวิจัยชิ้นงานด้านวัสดุนั้น  มีหลักการทำงานคล้ายกันกับห้องตรวจหาเชื้อของโรงพยาบาล จึงได้ระดมกำลังนักศึกษาและนักวิจัยของศูนย์ฯ ร่วมกับทีมงานจาก บริษัท อีคิว เทค  เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งมี นายสุรวีร์ ลีฬหรัตนรักษ์ เป็นประธานบริษัท ร่วมกันออกแบบโครงสร้าง หลักการทำงาน การประกอบติดตั้ง เพื่อประยุกต์ให้เป็นห้องความดันลบ หรือ negative pressure เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากผู้ป่วย  เป็นผลสำเร็จ ประกอบด้วย  1. ตู้คอนเทนเนอร์แบบเคลื่อนที่ ขนาด 3 x 6 x 2.7 เมตร ออกแบบเป็นห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโรค แบ่งได้เป็น     ห้องความดันลบ (negative pressure) จำนวน 2 ห้อง ทำการตรวจได้พร้อมกัน 2 คน สำหรับตรวจหาเชื้อโรคด้วยวิธีป้ายจมูกและลำคอ (nasopharyngeal swab and throat swab) กั้นห้องระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรอย่างชัดเจน ลดการสัมผัส ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค  ห้องปฏิบัติงาน และห้องน้ำ จำนวน 1 ห้อง ซึ่งตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวจะติดตั้งไว้แยกจากตัวอาคารหลัก 2. ห้องสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ขนาด 4X4 เมตร ออกแบบเป็นโครงเหล็กโปร่งคลุมด้วยพลาสติกใสหนาที่ปรับแปลงให้เป็นห้องความดันลบ (negative pressure)  และ 3. เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ติดเชื้อ คลุมด้วยโครงพลาสติกใสความดันลบ (negative pressure) แบบเคลื่อนที่ได้พร้อมระบบไฟสำรองไฟ ซึ่งในเบื้องต้นจะทำการมอบห้องความดันลบแบบเคลื่อนที่ที่เพิ่งสำเร็จนี้ ให้กับโรงพยาบาล มทส. เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ก่อน โดยทีมงานจะนำแบบแปลนของผลงานต่าง ๆ นี้ เผยแพร่ผ่านทางออนไลน์และยินดีแชร์ความรู้นี้ให้กับผู้ที่สนใจต่อไป เพื่อร่วมเป็นกำลังหนึ่งในการฝ่าวิกฤติโควิด-19 ของจังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทยไปด้วยกัน”

 

     ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สิงห์ดง นักวิจัยและนักวิชาการด้านระบาดวิทยา  รองคณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มทส. กล่าวว่า “จากการประมาณการจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ผู้ป่วยอาการวิกฤติในการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น ประกอบกับความขาดแคลนชุดกาวน์ชนิดเต็มตัว (PPE) ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ และที่สำคัญคือ พฤติกรรมการไม่ป้องกันการติดเชื้อของประชากรส่วนหนึ่ง ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นด่านแรกในการตรวจคัดกรองเชื้อ  การมีห้องความดันลบ (negative pressure room) เพื่อใช้ในการตรวจหาเชื้อทั้งภายในอาคารสำหรับผู้ป่วยใน ภายนอกอาคารสำหรับตรวจผู้ป่วยนอก และโรงพยาบาลสนาม จึงมีความจำเป็นอย่างมาก การดูแลผู้ป่วยให้ได้ผลนักวิทยาศาสตร์สุขภาพจำต้องทำงานในลักษณะสหวิทยาการ ซึ่งการบริหารจัดการของ มทส. มีลักษณะที่เอื้อต่อการทำงานข้ามสาขาอยู่แล้ว ในภาวะ การณ์เช่นนี้ จึงได้หารือกับ รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา ในการต่อยอดองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านร่วมกัน เพื่อรับมือกับการควบคุมป้องกันโควิด-19 โดยทีมอาจารย์พยาบาลมอบโจทย์ความต้องการ ตามหลักการและมาตรฐานทางการแพทย์ ผนวกกับความเชี่ยวชาญของศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง มทส.  ในด้าน Clean Environment ทั้งสองทีมจึงมีความเห็นร่วมกันเรื่องการสร้าง ห้องความดันลบ  (negative pressure room) ต้นแบบ เพื่อให้หน่วยงานที่สนใจนำไปใช้ได้ง่าย   ตอบโจทย์ความต้องการเร่งด่วนของประเทศ และเป็นการร่วมรับผิดชอบต่อสังคม   อีกทั้ง จากข้อจำกัดต่าง ๆ พบว่า สถานพยาบาลในปัจจุบันยังให้ผู้ป่วยทุกประเภทเข้ารับการตรวจวินิจฉัยภายในอาคาร โดยไม่ได้แยกผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจออกจากผู้ป่วยอื่น  ซึ่งเป็นไปได้ว่า ขั้นตอนตรวจการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจสามารถทำให้เชื้อแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งห้องคลีนรูม negative pressure สามารถจัดการอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วยไม่ให้ออกไปนอกห้องและบำบัดอากาศจนปราศจากเชื้อ  ทั้งยังลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้ป่วยรายอื่นและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย แต่การสร้างห้องความดันลบแยกในอาคารยังมีความท้าทายด้านการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (logistic) ในสภาวะผู้ป่วยต้องรับการตรวจหลายอย่าง  ประกอบกับข้อจำกัดเรื่องใช้งบประมาณเวลาก่อสร้างและสถานที่ ทำให้การมีห้องความดันลบ (negative pressure room) แบบเคลื่อนที่ หรือภายนอกอาคารนี้ ตอบข้อจำกัดได้หลายอย่างในเวลาอันจำกัด โดยคำนึงถึงหลักสุขอนามัยพื้นฐานทั้งของผู้เข้ารับการตรวจและบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนเป็นสำคัญ”

 

 

     โรงพยาบาล มทส. หนึ่งในสถานพยาบาลที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหนัก อาทิ หน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัย N95  หน้ากากป้องกันใบหน้า (Face Shield) และชุดกาวน์ชนิดเต็มตัว (PPE) รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคสมทบการดำเนินงานและการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยสามารถโอนเงินบริจาคได้ที่ กองทุนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เลขที่บัญชี 357-0008181  หรือติดต่อที่ โทร. 0 44 376 6889 หรือมือถือ 06 3131 1150  ได้ทุกวันและเวลาทำการ

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.