ทีมแพทย์ สธ.ย้ำมีเวชภัณฑ์เพียงพอรับมือโควิด-19 จ่อนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์อีกแสนเม็ด
5 เม.ย. 2563, 18:54
วันนี้ ( 5 เม.ย.63 ) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทย ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ไปตามผลการะศึกษาวิจัยจากทั่วโลก เดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ปรับเปลี่ยนแนวทางไปแล้ว 2 ครั้ง ทำให้พรุ่งนี้ 6 เมษายน 2563 จะประชุมผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งเพื่อดูแนวทางการรักษาบวกกับผลรักษาในประเทศต้องมีการปรับปรุงอย่างไร ควบคู่กับการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ที่นำเข้ามาจากประเทศจีนและญี่ปุ่นที่มีการรายงานที่รักษาจริงจึงบรรจุในสูตรการรักษาของไทย โดยเน้นใช้รักษาในผู้ป่วยรุนแรง หรือมีอาการแย่ลงเท่านั้น เพื่อให้รักษาหายกลับเป็นปกติโดยเร็ว จึงขอให้มั่นใจได้มามีเวชภัณฑ์เพียงพอรักษาประชาชนแน่นอนในระยะเวลา 4-5 เดือน เพราะผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาที่ดีที่สุดไม่ให้แพร่กระจายเชื้อในวงกว้างได้ โดยเฉพาะชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก
ขณะเดียวกันต้องดูแลกลุ่มเสี่ยงการเกิดอาการปอดอักเสบ ไม่ให้ติดเชื้อโรคโควิด-19 รวม 9 ประเภท คือ อายุมากกว่า 60 ปี ภาวะอ้วน ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือถุงลมโป่งพอง โรคไตวายเรื้อรัง ตับแข็ง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออัมพาต
ขณะที่ นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ตัวยาจะนำเข้ามาจากประเทศจีนอีก 100,000 เม็ด และอยู่ระหว่างสั่งซื้อจากญี่ปุ่นอีก 100,000 เม็ด โดยทีมผู้เชี่ยวชาญจะปรับแนวทางการรักษาใหม่อีกครั้งให้ใช้ง่ายมากขึ้น ในเบื้องต้นใช้ยาไปแล้วในผู้ป่วยแล้ว 515 ราย จากการนำเข้ารวม 87,000 เม็ด ใช้ยาไปแล้ว 48,875 เม็ด คงเหลือยาอยู่ 38,126 เม็ด ซึ่งยารักษาที่ได้มาจะกระจายยาให้ทั่วถึงและรวดเร็วครอบคลุมทั่วประเทศ
ด้าน นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันไทยใช้ยารักษา 7 ชนิด ที่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศโดยองค์การเภสัชกรรมที่มีปริมาณสำรองยาเพียงพอ ยกเว้นยาฟาวิพิราเวียร์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ในเบื้องต้นมีแผนสำรองยาชนิดนี้ให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านเม็ด เนื่องจากมีประชาชนป่วยโรคโควิด-19 เฉลี่ยวันละเกือบ 100 คน