พัฒนาฝีมือพะเยาร่วมกับหลายภาคส่วน ฝึกอบรมผู้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำปี้-สร้างของฝากกล้วยน้ำว้าคุณภาพเชียงม่วน
2 ก.ค. 2562, 13:24
วันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา ร่วมกับนายฉลอง โมกศิริ ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายบริหารงานปกครอง อำเภอเชียงม่วน นายพานิช ประสาทแก้ว หัวหน้าฝ่ายก่อสร้างที่ 3 สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 และนางนันทยา ยาเจริญ พัฒนาการอำเภอเชียงม่วน ดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงานเพื่อพัฒนาอาชีพในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ หลักสูตรการฝึกอาชีพเสริม สาขาการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและช่องทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (60 ชั่วโมง) ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ฯ จำนวน 20 คน ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 1-10 กรกฎาคม 2562 ณ ศาลาเอนกประสงค์บ้านกลาง หมู่ที่ 9 ต.เชียงม่วน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 กรมชลประทาน ทั้งนี้ โครงการนี้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากโครงการ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพที่มั่นคง ครอบครัวมีสุข ด้วยการฝึกอบรมฝีมือแรงงานเพื่อพัฒนาอาชีพในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จังหวัดพะเยา ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา ได้ฝึกอบรมไปแล้ว 3 รุ่น รุ่นนี้เป็นรุ่นสุดท้าย มีผู้รับการฝึกตามโครงการในปีงบประมาณนี้ รวมทั้งสิ้น 80 คน (4 รุ่น) โดยจะได้รับงบประมาณต่อเนื่อง 3 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2561-2563 ปีละ 750,000 บาท
นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา เปิดเผยว่า การฝึกอาชีพในครั้งนี้ เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยน้ำว้า ซึ่งปลูกมากในพื้นที่อำเภอเชียงม่วน กล้วยน้ำว้าเป็นสินค้าเกษตรหลักที่แตกต่างจากกล้วยหอม ซึ่งปลูกมากในอำเภออื่นๆ เช่น ดอกคำใต้ เชียงคำ และจุน โดยเน้นการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยน้ำว้ากรอบ กล้วยเส้นทรงเครื่อง กล้วยน้ำว้าม้วนงาทอง กล้วยฉาบโบราณ กล้วยฉาบงาทอง กล้วยเบรคแตก กล้วยน้ำว้าอบน้ำผึ้ง กล้วยน้ำว้าเคลือบช็อกโกแลตถั่วทอง กล้วยน้ำว้าเคลือบสูตรต่างๆ เพื่อพัฒนาเป็น “ผลิตภัณฑ์กล้วยน้ำว้าของฝากคุณภาพเชียงม่วน” สำหรับจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว รวมถึงเทคนิคการบรรจุผลิตภัณฑ์และการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์กล้วยน้ำว้า เทคนิคการเล่าเรื่องราวบนบรรจุภัณฑ์ที่บรรยายถึงคุณค่าทางโภชนาการที่โดดเด่นกว่ากล้วยชนิดอื่นๆ ของกล้วยน้ำว้า รวมถึงแหล่งปลูกกล้วยน้ำว้าที่มีคุณภาพและปลอดสารเคมี
นอกจากนี้ยังเน้นการพัฒนาทักษะการโฆษณาขายสินค้า และเทคนิคการทำภาพยนตร์สั้นด้วยสมาร์ทโฟนเพื่อการโฆษณาบนสื่อสังคมออนไลน์ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับธุรกิจการท่องเที่ยว บริการ และที่พัก ที่จะเกิดขึ้นเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้ ภายหลังอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มสามารถเก็บกักน้ำได้ สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดพะเยา (พ.ศ. 2561-2564) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่โดยรอบอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการฝึก ผู้ผ่านการฝึกสามารถแปรรูปกล้วยน้ำว้า และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่นๆ เช่น ฟักทอง เผือก มันฝรั่ง ขายผ่านวิทยากรผู้สอน (นางสาวตวงรัตน์ รัตนพงษ์ศรียา) ในแบรนด์สินค้า “เต็ม เต็ม” ได้ทันที เพราะปัจจุบันมีตลาดรองรับอยู่แล้วตรงนั้น จึงสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ได้รับผลกระทบฯ ระหว่างรอการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องจากพระราชดำริฯ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี พ.ศ. 2563