"ครู-นักเรียนขอนแก่น" ผวาหนัก อาคารเรียนพังถล่ม เหตุโครงสร้างไม่ปลอดภัย
2 ก.ค. 2562, 16:16
วันที่ 2 ก.ค.62 ผู้สื่อข่าว onb news รายงานว่า ที่โรงเรียนบ้านเหล่านาดี ต.บ้านหว้า อ.เมือง จ.ขอนแก่น กลุ่มผู้ปกครองของเด็กนักเรียน พร้อมด้วยผู้อำนวยการโรงเรียนและครู พาผู้สื่อข่าวเดินสำรวจสภาพของอาคารเรียน จำนวน 2 หลัง ที่ขณะนี้อยู่ในสภาพชำรุดและทรุดโทรมอย่างหนัก หลังจากที่มีการใช้งานมากว่า 40 ปี โดยหลังแรกเป็นอาคาร 2 ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ขนาด 6 ห้อง ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2514 ปัจจุบันอยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก โดยเฉพาะบนชั้น 2 ของอาคารเรียนที่เป็นไม้ พบว่า ตั้งแต่ผนังห้องฟ้าเพดาน หน้าต่าง รวมไปถึงเสาอาคารอยู่ในสภาพชำรุด ผนังห้องบางจุดถูกปลวกกัดกินเสียหาย และเสี่ยงที่จะทรุดตัวหรือล่วงหล่นลงมาทับครูและนักเรียน ทำให้ทางโรงเรียนต้องปิดใช้งานห้องเรียนด้านบนอาคาร เหลือไว้เฉพาะโต๊ะเก้าอี้เก่าบางส่วนที่ถูกฝุ่นจับไว้ในห้อง แล้วย้ายเด็กนักเรียนลงมาทำการเรียนการสอนที่ห้องชั้นล่าง ซึ่งมีขนาดแออัด มาตั้งแต่ปี 2559 หรือกว่า 3 ปีที่ผ่านมา
ส่วนอาคารหลังที่ 2 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้นขนาด 6 ห้องเรียน ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2524 แม้ว่าภายนอกอาคารจะมีการทาสีใหม่แทนสีเดิมที่หลุดลอกจนดูเหมือนเป็นอาคารใหม่ แต่เมื่อเดินเข้าไปตรวจสอบกลับพบว่า เสาอาคารเกือบทุกต้นแตกร้าวจนสามารถมองเห็นเหล็กโครงสร้างภายในตัวเสาซึ่งมีลักษณะเสื่อมสภาพ รวมทั้งบนฝ้าเพดานก็มีรอยแตกร้าวเป็นทางยาว ซึ่งอาคารหลังนี้ทางเรียนก็ได้ปิดการใช้งานห้องเรียนด้านบนอาคารเช่นกัน เพราะกลัวว่าจะแบกรับน้ำหนักไม่ไหวแล้วพังถล่มลงมา โดยย้ายนักเรียนลงมาเรียนที่ห้องสมุดด้านล่าง ซึ่งได้ปรับปรุงเป็นเรียนเช่นกัน
นางอมรรัตน์ ศรีสุพรรณ หนึ่งในผู้ปกครองของนักเรียนบ้านเหล่านาดี เล่าว่า อาคารเรียนทั้ง 2 หลัง เคยเป็นอาคารเรียนที่ตนใช้เรียนหนังสือตั้งแต่สมัยเมื่อหลายสิบปีก่อน จนกระทั้งมาถึงรุ่นลูกของตนเอง ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก เวลาที่ตนพาลูกมาส่งโรงเรียนแล้วเห็นสภาพของอาคารเรียนก็อดเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกและเด็กนักเรียนคนอื่นๆ ไม่ได้ เนื่องจากสภาพของอาคารสุ่มเสี่ยงที่จะพังถล่มลงมาตอนไหนก็ได้ ยิ่งในเวลาที่มีลมพายุหรือฝนตกหนักก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อครูและนักเรียน แม้ว่าที่ผ่านมาทางผู้ปกครองของนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาจะพยายามหางบประมาณผ่านการจัดทำผ้าป่าสามัคคีเพื่อใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมแต่ก็ช่วยไม่ได้มาก เพราะปัญหาใหญ่คือ โครงสร้างของอาคารที่เสื่อมสภาพไปมาก จึงอยากให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนด้วยการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ให้กับนักเรียน เพราะหากปล่อยให้เป็นไปตามสภาพแบบนี้กลัวว่าจะเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นได้
ด้านนางเตือนตา แซงบุญเรือง ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนบ้านเหล่านาดี กล่าวว่า ตนเองและเพื่อครู รวมทั้งเด็กนักเรียนต้องอยู่อย่างหวาดระแวงว่าอาคารจะพังถล่มลงมาสักวัน เพราะบางวันขณะที่สอนหนังสืออยู่ก็มีเสียงผนังปูนและเสาปูนลั่น ยิ่งมองไปเห็นรอยแตกร้าวของอาคารก็ยิ่งทำให้หวาดกลัว ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนของเด็กเป็นอย่างมาก เพราะเด็กนักเรียนเองก็คอยถามครูว่าอาคารเรียนจะพังลงมาหรือไม่ ซึ่งครูเองก็ได้แต่คอยปลอบใจนักเรียน คอยเตือนว่าอย่าไปเข้าใกล้บริเวณที่มีรอบแตกร้าว หรือ ขึ้นไปวิ่งเล่นบนอาคารเรียน หากเป็นไปได้ตนในฐานะครูก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตของเด็กนักเรียนและคณะครู
ขณะที่นายมานพ อานจันทึก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเหล่านาดี เปิดเผยว่า ทางโรงเรียนได้ทำเรื่องขอยกเลิกใช้อาคารทั้ง 2 หลัง ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาขอนแก่น เขต 1 หลายครั้งแล้วตั้งแต่ ปี 2561 แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ทางโรงเรียนมีความวิตกกังวลว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับเด็กนักเรียนหากปล่อยไว้นาน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มี.ค.62 ที่ผ่านมา วิศวกรโยธา สำนักการช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ได้เข้ามาตรวจสอบโครงสร้างอาคารทั้ง 2 หลัง พบว่า อาคารมีสภาพเก่า โครงสร้างของอาคารด้านวิศกรรมได้เสื่อมสภาพหมดแล้ว และยังแสดงให้เห็นร่องรอยการวิบัติอย่างชัดเจน และสามารถพังทลายลงได้ทุกเมื่อ หากมีการใช้อาคารต่อไปในสภาวะใช้งานปกติ การพังทลายจะค่อยเป็นค่อยไป แต่หากมีการใช้งานในลักษณะกระตุ้นให้มีน้ำหนักของอาคารจำนวนมากๆ เช่น มีจำนวนนักเรียนรวมกลุ่มกันบนชั้น 2 หรือ เกิดพายุลมแรงก็สามารถทำให้อาคารพังลงได้โดยเร็ว นอกจากนี้วิศวกรยังลงความเห็นด้วยว่า ในส่วนของอาคารหลัก คือ เสา คาน และโครงสร้างอื่น ไม่เหมาะสมที่จะทำการปรับปรุงซ่อมแซม และควรงดใช้อาคารดังกล่าวในที่สุด
สำหรับโรงเรียนบ้านเหล่านาดี เป็นโรงเรียนในสังกัดของสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาขอนแก่นเขต 1 เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้น ป.1– ป.6 มีนักเรียนจำนวน 179 คน ครูและอาจารย์ รวม 8 คน ส่วนอาคารเรียนเริ่มเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 หรือเมื่อ 48 ปีที่ผ่านมา