ภาคเอกชน เสนอเปิดห้าง-ร้านเสริมสวย พร้อมวอนรัฐ ช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงาน 50%
13 เม.ย. 2563, 16:03
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งที่1 /2563 ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมหารือหลายแนวทางหลายเรื่อง จึงให้ตั้งทำงาน 5 ชุด เพื่อไปศึกษารายละเอียดกลับมาเสนอที่ประชุมในวันจันทร์ที่ 20 เม.ย.นี้ หากมาตรการไหนทำได้ก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ
โดยคณะทำงานชุดที่ 1 ให้ไปดูมาตรการที่รัฐบาลออกไปชุดที่ 1-3 ก่อนหน้านี้ ว่าภาคเอกชน ธุรกิจ ที่ดำเนินการอยู่ คิดว่ายังติดขัดอะไร จะเสนออะไรเพิ่มเติม ซึ่งปัญหาใหญ่คือหลายธุรกิจเข้าไม่ถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) จึงให้นายปรีดี ดาวฉาย นายกสมาคม ธนาคารไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงานดูแนวทางว่าจะปลดล็อกได้อย่างไร
คณะทำงานชุดที่ 2 ให้ไปพิจาณาธุรกิจบางธุรกิจที่สามารถกลับมาเปิดได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบสภาพคล่องและการจ้างงาน การขยายเพิ่มการขนส่งโลจิสติกส์ โดยมีนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
คณะทำงานชุดที่ 3 ดูเรื่องระบบเกษตรกร เรื่องเร่งด่วนทำอย่างไรให้ผลผลิตสามารถขายได้
คณะทำงานชุดที่ 4 มาตรการดูแลผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี โดยเฉพาะไมโครเอสเอ็มอี ที่มีทุนต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สามารถอยู่ได้ มีการจ้างงาน โดยมีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
คณะทำงานชุดที่ 5 เป็นคณะทำงานฟื้นฟูหลังวิกฤตโควิด เรื่องระบบดิจิทัลโซลูชั่น โดยมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า การกู้เงินซอฟท์โลนของเอสเอ็มอี ยังมีเงื่อนไขไม่ชัดเจน ผู้ประกอบการต้องการให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อ 80% ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ก็ยังไม่ได้ ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% เท่ากับลูกจ้าง เอกชนสามารถนําค่าใช้จ่ายสําหรับป้องกันโควิด-19 มาหักภาษีได้ 3 เท่า
นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลออกคําสั่งปิดกิจการโรงแรม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม ขอให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเอสเอ็มอี 2 ปี ขยายเวลาการส่งมอบงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐออกไป 4 เดือน และลดค่าจดจำนองโอนที่ดินเหลือ 0.01%
ส่วนสำคัญที่สุดที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือทันที ให้รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบค่าจ้างแรงงานให้ผู้ประกอบการ 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ 15,000 บาท หรือให้รัฐช่วยจ่าย 7,500 บาทต่อเดือน ส่วนที่เหลือผู้ประกอบการจ่ายให้ 25% ให้นำไปหักภาษี 3 เท่า และลูกจ้างต้องยอมลดค่าจ้าง 25% เพื่อให้คงการจ้างงานประมาณ 10 ล้านคน ต่อไปได้ รวมทั้งอนุญาตให้จ้างงานเหลือ 4 ชั่งโมงต่อวัน จาก 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ผิดกฎหมาย
"ถ้ารัฐบาลทำตามข้อเสนอการช่วยเหลือจ่ายค่าจ้างแรงงานให้ผู้ประกอบการ 50% ซึ่งไม่ได้เป็นการจ่ายเต็มเงินเดือน เป็นการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ก็จะทำให้ลูกจ้างไม่ถูกเลิกจ้างแน่นอน ซึ่งตอนนี้มีบางกิจการมีปัญหา ไม่ได้ถูกรัฐสั่งปิดกิจการ แต่ยังต้องมีการจ้างงานอยู่ ถึงแม้ว่าจะประกอบธุรกิจไม่ได้" นายสุพันธุ์ กล่าว
นายกลินทร์ กล่าวว่า จะเสนอให้บางธุรกิจบางกิจการกลับมาเปิดกิจการได้ การขนสินค้าสำคัญบางประเภทเพิ่มเติม ที่ผ่านมารัฐบาลได้ผ่อนผันไปบ้างแล้ว ก็จะมีการศึกษาว่ามีธุรกิจใดบ้างที่จะเปิดได้เพิ่มเติม เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย ต้องดูวิธีการทำอย่างไร รวมทั้งปรึกษาหมอและศูนย์โควิดของรัฐบาลด้วย
นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลช่วยเรื่องภาษี กรณีที่นำผลขาดทุนไปเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 5 ปี เป็น 7 ปี รวมถึงเวลาการบริจาคช่วยเหลือโควิดโดยไม่ต้องมีเพดานกำหนดว่า นิติบุคคลห้ามเกิน 2% ของกำไร และบุคคลธรรมดาไม่เกิน 10% ของเงินได้
"ตอนนี้ผู้ประกอบการประเมินว่าในช่วงนี้จะมีแรงงานภาพรวมทั้งหมดตกงาน 7 ล้านคน และหากสถานการณ์โควิดยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือน โดยที่ไม่มีมาตรการดูแลผู้ประกอบการเพิ่มเติม จะทำมีคนตกงานเพิ่มเป็น 10 ล้านคน" นายกลินทร์ กล่าว
นายปรีดี กล่าววว่า การปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลน มี 2 ส่วน ในส่วนแรกเป็นวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ของธนาคารออมสิน ซึ่งมีเงื่อนไขปล่อยกู้ให้ได้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยมีผู้ต้องการสินเชื่อจำนวนมาก ทำให้ธนาคารต้องพิจารณาให้รอบคอบ ถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ
ในส่วนที่สอง เป็นซอฟท์โลนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 5 แสนล้านบาท ต้องรอให้ พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้เสียก่อน เพื่อดูรายละเอียดที่แท้จริงของการปล่อยกู้ซอฟท์โลน ที่ตอนนี้ มีแค่กรอบกว้างๆ ว่า ธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้ลูกค้าได้ไม่เกิน 20% ของหนีที่ค้างอยู่ โดยยอดสินเชื่อคงค้างไม่เกิน 500 ล้านบาท
"การล่าช้าปล่อยกู้ซอฟท์โลน ของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีลูกค้าจำนวนมาก มีเกณฑ์เรื่องการพิจารณาสินเชื่อ การดูหลักประกันที่มาขอสินเชื่อ ดูความสามารถการชำระคืนในอนาคตของผู้กู้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย คณะทำงานก็จะเสนอแนวทางการแก้ปัญหาในสัปดาห์หน้าให้มีความชัดเจน เพื่อให้การปล่อยกู้ซอฟท์โลนทำได้เร็วขึ้น"