เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



WHO ชมไทยคุมโควิด-19 อยู่หมัด ด้วย อสม.กว่าล้านคนดูแลถึงระดับครอบครัว


14 เม.ย. 2563, 17:47



WHO ชมไทยคุมโควิด-19 อยู่หมัด ด้วย อสม.กว่าล้านคนดูแลถึงระดับครอบครัว




วันนี้ (14 เม.ย. 2563) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้
 
1. การประชุมสมัยพิเศษของผู้นำอาเซียนเพื่อหารือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ผ่านระบบ Video Conference
 
นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประชุมสมัยพิเศษของผู้นำอาเซียนเพื่อหารือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ผ่านระบบ Video Conference หารือวาระพิเศษเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นประเด็นเร่งด่วนทั้งในพื้นที่เอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และช่วงบ่ายจะมีการประชุมคู่เจรจาที่ประสบปัญหาเดียวกัน ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบ และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว คาดว่าประสบการณ์ของประเทศเหล่านี้ จะสามารถช่วยให้สถานการณ์ประเทศสมาชิกอาเซียนดีขึ้นได้
 
2. สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทย

สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศ พบผู้ป่วยใหม่ 34 ราย มีผู้ที่หายป่วยกลับบ้านได้แล้ว 1,405 ราย ยังมีผู้ที่รักษาตัวอยู่ 1,167 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,613 ราย โดยกลุ่มคนไทยที่กลับจากอินโดนีเซียแล้วเข้า State Quarantine มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย ที่จังหวัดสตูล จากสถิติภาพรวมของผู้ที่หายป่วย ทำให้เตียงในโรงพยาบาลว่างมากขึ้น อย่างไรก็ตามกรุงเทพฯ และนนทบุรี ยังเป็นกลุ่มใหญ่ โดยมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ช่วงอายุที่มีการติดเชื้อมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 30-39 ปี รวม 623 ราย ผู้ติดเชื้อน้อยที่สุดอายุ 1 เดือน และสูงสุดอายุ 97 ปี อายุเฉลี่ยของผู้ที่ติดเชื้อ 40 ปี
 
โฆษก ศบค. กล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมเป็น 41 ราย โดยรายที่ 41 ผู้ป่วยหญิงชาวไทย อายุ 52 ปี อาชีพพนักงานขับรถ ขสมก. สาย 140 มีโรคประจำตัวคือโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจโต มีประวัติสังสรรค์ดื่มสุราในวงเพื่อน ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พบผู้ที่ติดเชื้อจากการสังสรรค์ทั้งหมด 10 ราย วันที่ 26 มีนาคม 63 ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก มีเสมหะ ไปตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ แล้วกลับไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 63 มีอาการไข้ ถ่ายเหลว หอบ หายใจเหนื่อย  ผลตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 4 เมษายน 63 ต่อมามีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ และเสียชีวิต 12 เมษายน 63 ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย 



สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 34 ราย พบว่ากลุ่มใหญ่ คือ ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ จำนวน 27 ราย คิดเป็น 80% กลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ อิตาลี มาเลเซีย ซึ่งสองประเทศนี้ยังมีตัวเลขที่สูงอยู่  และกลุ่มที่มาจากอินโดนีเซียแล้วเข้า State Quarantine มี 1 คน แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อนี้ยังไม่น่าไว้วางใจ ที่ต้องเน้นย้ำเพราะจะเห็นภาพตัวเลขผู้ติดเชื้อมีจำนวนขึ้น ๆ ลง ๆ ทั้งนี้ การรายงานตัวเลขคนที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในวันนี้ เป็นผลที่เกิดขึ้นจากประมาณ 1-7 วันที่ผ่านมา
 
เมื่อดูแผนที่แสดงจังหวัดที่รับรักษาผู้ป่วยยืนยันสะสม พบว่า กรุงเทพฯ 1,311 ราย ภูเก็ต 186 ราย นนทบุรี 150 ราย สมุทรปราการ 107 ราย ยะลา 90 ราย และมี 9 จังหวัดที่ยังคงไม่มีรายงานการรับผู้ป่วย อัตราผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อประชากรแสนคน จำแนกตามจังหวัดที่รับการรักษา อันดับ 1 ยังเป็น ภูเก็ต รองลงมาคือ กรุงเทพฯ ยะลา นนทบุรี ปัตตานี และในผู้ป่วยรายใหม่ 34 คน มาจากกรุงเทพฯ เป็นอันดับ 1 คือ 8 ราย ยะลา 6 ราย ปัตตานี ภูเก็ต จังหวัดละ 5 ราย นครศรีธรรมราช 4 ราย  สมุทรปราการ 2 ราย เลย พังงา สตูล จังหวัดละ 1 ราย และอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรคอีก 1 ราย 
 
จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ เปรียบเทียบพื้นที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และต่างจังหวัด พบว่า ต่างจังหวัดมีจำนวนเพิ่มขึ้น หลายคนที่กลับบ้านช่วงสงกรานต์ ปรากฏมีการตั้งวงดื่มเหล้า ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อได้ สำหรับกลุ่มคนไทยที่กลับจากอินโดนีเซียแล้วเข้า State Quarantine พบผู้ป่วยแล้ว 61 ราย จาก 70 กว่ารายที่เดินทางกลับมา จึงต้องเน้นย้ำมาตรการ State Quarantine และ Local Quarantine ขอให้ทุกคนสมัครใจ ด้วยภาครัฐมีเจตนาดีและมาตรการดังกล่าว เพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ และเพื่อให้ผู้เดินทางกลับปลอดภัยและสังคมปลอดภัย
 
โฆษก ศบค. กล่าวถึงแผนภูมิของต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพฯ ค่อย ๆ ลดลงมา ภาคใต้มีความพยายามที่จะลดลง หากดูกราฟช่วงเวลาการติดเชื้อของ ผู้ป่วย COVID-19 ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ตามปัจจัยเสี่ยง มีนาคม – 12 เมษายน 63 พบว่า ที่จังหวัดสงขลา เริ่มตั้งแต่ 16 มีนาคม 63 มีกลุ่มคนไทยกลับจากร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย แล้วพบผู้ติดเชื้อวันที่ 20-23 มีนาคม 63 ต่อเนื่องถึงต้นเดือนเมษายน 63 นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่กลับจากการร่วมพิธีทางศาสนาที่อินโดนีเซียและปากีสถาน ทำให้จำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นมาเรื่อย ๆ  ขอให้พี่น้องมุสลิมได้ดูแลสุขภาพ ต้องจัดสมดุลของชีวิต ร่างกาย และพิธีการต่าง ๆ ให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการติดโรคและปลอดเชื้อได้  ขณะที่จังหวัดยะลา มีตัวเลขการป่วยตั้งแต่ 16 มีนาคม 63 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและสูงสุดวันที่ 23 มีนาคม 63 เริ่มลดลง  แต่ต่อมามีกลุ่มคนที่กลับจากอินโดนีเซียและรวมกับพิธีทางศาสนาที่บันนังสตา ทำให้มีตัวเลขผู้ป่วยที่ 82 ราย ฉะนั้น เป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมาก ผู้ที่ไปร่วมพิธีแล้วเดินทางกลับมาอาจจะแข็งแรงดี แต่คนที่บ้านอาจจะติดเชื้อและทำให้คนอื่นติดเชื้อต่อได้ถึงสามช่วง เช่นเดียวกับจังหวัดนราธิวาส ที่มีรูปแบบที่ใกล้เคียงคล้ายกัน แต่เป็นการติดเชื้อสองช่วง และที่ปัตตานีมี 77 รายที่เป็นกลุ่มใหญ่  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่สืบเสาะหาผู้ป่วย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องทุกชาติทุกกลุ่ม ทุกวัย และทุกศาสนา เพราะทุกคนเป็นพี่น้องกัน
 
3. สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 โลก
  
ผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,924,679 ราย  อาการหนัก 50,000 กว่าราย หายแล้ว 440,000 กว่าราย เสียชีวิต119,000 กว่าราย โดยประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 23,000 กว่าราย โดยเมืองนิวยอร์กยังเป็นเมืองที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก อิตาลี เสียชีวิตแล้ว 20,000 กว่าราย ฝรั่งเศส เสียชีวิต 14,900 กว่าราย และอังกฤษ เสียชีวิต 11,300 กว่าราย
 
โฆษก ศบค. กล่าวว่าแต่ละประเทศดังกล่าวล้วนแล้วมีการสาธารณสุขที่ดีเยี่ยมระดับโลก ขณะที่ไทยอยู่อันดับ 6 ของโลกในการดูแลด้านสาธารณสุข ซึ่งต้องชมประเทศไทยเพราะขณะนี้อันดับผู้ติดเชื้อในประเทศไทยลดลงมาอยู่อันดับที่ 50 ขณะที่สิงคโปร์ปรับขึ้นไปอยู่อันดับที่ 48  โดยวานนี้มีผู้เสียชีวิตวันเดียวถึง 386 ราย เกิดจากกลุ่มที่ไปอยู่ในสถานที่ที่แออัด เช่น หอพัก ต่าง ๆ เป็นต้น
 
โฆษก ศบค. ยังย้ำหลักการในการจัดการวิกฤตระบุว่า “ต้องโปร่งใส ทุกอย่างพิสูจน์ได้ และเห็นภาพของความเป็นจริงให้มากที่สุด”  ซึ่งประเทศไทยได้ทำมาตั้งแต่ต้นไม่มีใครมาคุมตัวเลข เพื่อที่จะให้ประชาชนทราบ และเป็นพลังของทุกคนในประเทศ ลงไปถึงระดับจังหวัด ในการติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังตัวเลขในพื้นที่ของตนเอง ถือเป็นพลังสำคัญที่ทำให้อันดับของไทยขึ้นหรือลงได้
 
WHO หรือองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ชื่นชมไทยสามารถลดลำดับผู้ติดเชื้อ โดยระบุว่า ไทยมีระบบการดูแลสุขภาพถึงระดับครอบครัว คือ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) กว่า 1,040,000 คน ทำให้สามารถดูแลคนได้อย่างใกล้ชิด นี่คือความภาคภูมิใจของประเทศไทย ซึ่งองค์กรด้านสาธารณสุขระดับโลกรายงานให้คนทั่วโลกรับทราบ ถึงศักยภาพการดูแลสาธารณสุขของคนไทย ซึ่งต้องขอบคุณ อสม. รวมถึงบุคลากรทุกฝ่ายที่ช่วยกัน
 
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อนับจากวันที่มีผู้ติดเชื้อถึง 100 คน นั้น จากภาพแผนภูมิเส้นกราฟแสดงตัวเลขของโลก ฮ่องกงใกล้เคียงกับไทย ขณะที่สิงคโปร์และญี่ปุ่น ยังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง จึงขอให้ทุกคนช่วยกันให้ไทยรักษาระดับเช่นนี้ได้ไปเรื่อย ๆ ต่อไป
 
ผู้ป่วยสะสมของไทยที่เข้ารักษาแยกตามสังกัด ดังนี้  โรงพยาบาลเอกชนร้อยละ 42.3  โรงเรียนแพทย์ ประมาณร้อยละ 25.8 กรมการแพทย์และกรมควบคุมโรคซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง ประมาณร้อยละ 10 และร้อยละ 11 ตามลำดับ โดยมีผู้ป่วยที่อาการหนักอยู่ใน ICU (ข้อมูล 13 เม.ย.63) จำนวน 48 ราย ซึ่งผู้ป่วยดังกล่าวแบ่งเป็นภาระงานของทางภาครัฐ จำนวน 37 ราย เอกชน จำนวน 11 ราย ภาพรวมของประเทศไทย ทุกหน่วยงานล้วนมีความกล้าหาญในวิชาชีพ พร้อมช่วยกันที่จะทำให้ประชาชนกลับคืนสู่ปกติ


โฆษก ศบค. ยืนยันให้ประชาชนสบายใจได้ว่า ขณะนี้มีเตียงเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยได้ รวมทั้งการเตรียมพร้อมเครื่องช่วยหายใจเพียงพอทั่วทุกภาค ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานศูนย์ ศบค. เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบจำนวนเตียง เครื่องมือ ให้มีความพร้อมและเพียงพอรองรับกับสถานการณ์อยู่เสมอ
 
4. รายงานผลการปฏิบัติการจากการประกาศเคอร์ฟิว
     
รายงานผลการปฏิบัติการจากการประกาศเคอร์ฟิวประจำวันที่ 14 เมษายน 63 พบว่า มีประชาชนที่กระทำความผิดออกนอกเคหะสถาน 806 ราย ชุมนุมมั่วสุม 155 ราย ทั้งนี้ สาเหตุส่วนใหญ่ของการชุมนุมมั่วสุม คือ เล่นพนัน ดื่มสุราและยาเสพติด เหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมายและผิดจริยธรรม จากรายงานผู้ละเมิดความผิดของแต่ละจังหวัดพบว่า กรุงเทพมหานคร 500 กว่าคดี  ปทุมธานี 325 คดี ภูเก็ต 216 คดี  จึงขอวิงวอนประชาชนอย่ามั่วสุม ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว จะทำให้สุขภาพไม่ดีและเสี่ยงต่อการติดโรคไวรัสโควิด-19 ได้อีกด้วย
 
โฆษก ศบค. ยังย้ำถึงมาตรการการเดินทางเข้า-ออกประเทศของคนไทยว่า ในวันที่ 14 เมษายน 63 จะมีคนไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลี จำนวน 135 ราย ในเวลา 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้วจะต้องเข้ากักกันเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ที่รัฐบาลกำหนดทุกกรณี ซึ่งขอให้ผู้ที่เดินทางกลับให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้อื่นด้วย






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.