เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นพ.ประสิทธิ์ ชี้ โควิด-19 ในหน้าฝนน่ากลัว ต้องเตรียมการรองรับ


18 เม.ย. 2563, 14:20



นพ.ประสิทธิ์ ชี้ โควิด-19 ในหน้าฝนน่ากลัว ต้องเตรียมการรองรับ




 


ศ. ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  เปิดใจใน รายการโหนกระแส  เรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ก่อนหน้านี้อาจารย์โพสต์บอกว่ามีโอกาสเหลือเกินวันที่ 15 เมษายน 2563 ตัวเลขอาจแตะหลัก 3 แสน ตอนนี้ตัวเลขน่าพอใจไหม ?

              ศ. ดร.นพ.ประสิทธิ์ : ผมจะร้อยเรียงว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทำไมเราได้ขนาดนี้ คงจำได้สไลด์นี้เราเคยนำเสนอผู้ใหญ่ของประเทศว่าตอนนั้นเราติดตามดู เรามีคนไข้เริ่มแตะ 100 ขึ้นไป วันที่ 15 มีนาคม 2563 หลังจากนั้นจำนวนก็เพิ่มขึ้นจนเริ่มแตะ 200 เราดูจำนวนวันจาก 100 เป็น 200 ใช้เวลากี่วัน ปรากฏว่าใช้เวลา 3 วันครึ่ง ในกราฟจะมีประเทศที่เอาโควิด 19 อยู่ กับเอาไม่อยู่ ถ้าเราดูเอาไม่อยู่ใช้เวลา 3 วัน ส่วนประเทศที่เอาอยู่ใช้เวลาเป็นเวลา 5 วันขึ้นไป ของเราเวลานั้นอยู่ประมาณ 3 วันครึ่ง เราเลยมองว่าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเอาไม่อยู่ แล้วในกลุ่มเสี่ยงลักษณะเราคล้ายใครที่สุด ปรากฏว่าเราคล้ายเยอรมัน  ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ปล่อยแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ครบ 30 วันให้หลังเราเจอที่ตัวเลข 3.5 แสน โดยวิสัยไวรัสตัวนี้ 100 ราย 80 รายอาการไม่รุนแรง 20 รายอาการรุนแรง และ 5 รายอาการสุด ๆ เราคิดว่าถ้าเป็นอย่างนั้นมันจะเกินศักยภาพประเทศไทย ระบบบริการสุขภาพเราจัดการไม่อยู่แน่ เราก็คิดว่าเราต้องดึงกราฟลงมาให้ได้

              ถ้าเราดึงกลับมาเท่าไหร่ถึงจะเอาอยู่ ก็จะเห็นว่าตัวเลข 32 รายต่อวัน ถ้าตัวเลขประมาณนี้เราเอาอยู่ เราก็ตั้งเป้าหมายตรงนั้น โชคดีเราได้มีโอกาสคุยกับผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่าน และเริ่มมีมาตรการต่าง ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กทม. หรือรัฐบาลที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทันทีที่ออกมาปุ๊บสิ่งที่เกิดขึ้นคือมันลดลง ที่วงให้ดูคือญี่ปุ่นกับสิงคโปร์ ต้องการให้ดูว่า ณ ตอนนั้นสิงคโปร์กับญี่ปุ่นชิล ๆ ค่อนข้างสบาย แต่มีการเปลี่ยนแปลง ข้อมูลนี้สิ้นสุดตอนเย็นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 เรามีคนไข้ทั้งหมด 2,643 ราย เรากับมาเลเซีย ถ้าดูจากจุดเริ่มต้น เราเริ่มร้อยรายก่อนมาเลเซีย มาเลยเซียคือเส้นสีฟ้าต่ำกว่าเรา แต่หลังจากนั้นมาเลเซียเริ่มทิ้งเรา วันที่ประเทศไทย 1 พันราย มาเลเซีย 2 พันราย ตอนนี้มาเลเซียทะลุ 3-4 พันรายไปแล้วนะครับ เรายังอยู่ที่ 2, 643 ส่วนที่ตีวงสิงคโปร์กับญี่ปุ่น สังเกตว่ากราฟเขาเปลี่ยนไป อยู่ ๆ กราฟชันขึ้นทันที เราตัดกราฟนี้วันที่ 31 หลังแต่ละประเทศครบ 100 ราย

              จากเดิมประเทศไทยเราอยู่อันดับ 2 ตอนเริ่มใหม่ ๆ สิงคโปร์อันดับ 1 เราอันดับ 2 หลังจากนั้นสิงคโปร์ก็ลดลง มาเลเซียเป็น 1 เราเป็น 2 แต่ ณ วันนี้เราถูกแซงไปหมดแล้ว เราอยู่ที่ 5 ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย วันนี้อินโดนีเซียชนะมาเลเซียไปเรียบร้อยแล้ว สิงคโปร์ที่เคยคุมได้ดี ณ วันนี้เชิดหัวขึ้นมายอะมาก จนสิงคโปร์ต้องมีมาตรการอะไรบางอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนให้พวกเราเตรียมการอย่าให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ

เพราะเขานำหน้าเราอยู่ตอนนี้ เราจะได้รู้ว่าเขาพลาดอะไร ?

             ศ. ดร.นพ.ประสิทธิ์ : เขาพลาดอะไร อีกวงที่ให้ดูคือเวียดนาม ถ้าพูดกันตรง ๆ เอามาตรฐานการแพทย์ของเวียดนามมาเทียบกับของเรา เราคิดว่าเราล้ำหน้าเขาอยู่ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่เวียดนามทำได้ดีมากตั้งแต่ต้น คือออกมาตรการควบคุมโควิด 19 ประกาศตั้งแต่เพิ่งมีจำนวน 100 กว่าราย รัฐบาลเขาประกาศเป็นโรคติดต่อร้ายแรง รัฐบาลเขาประกาศเร็ว สองสิ่งที่เขาทำเร็ว เวียดนามสั่งชุดตรวจโควิด 19 แรบบิทเทส จากเกาหลี 2 แสนชุด ตรวจคนที่สงสัยทันที ตอนนี้ตรวจไป 1.3 แสนกว่าราย ฉะนั้นเขาสามารถเจอคนที่เป็นบวก เขาเจอบวกเร็วและแยกเร็ว ทำให้วันนี้เวียดนามไม่มีอัตราการเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว

              ของไทยตอนนี้ 2,643 คน ของสิงคโปร์เมื่อวานขึ้นไป 4 พันกว่าคน อินโดนีเซีย ไม่ต้องห่วงเลยเขาทะลุ 5 พันพร้อม ๆ มาเลเซีย สไลด์นี้ต้องการให้เห็นว่าอัตราการเพิ่มจากร้อยและเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ กราฟจะชันขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศที่คุมไม่อยู่ โดยเฉพาะประเทศที่ปล่อยให้คนข้างนอกเข้าประเทศ

เช่นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ?

              ศ. ดร.นพ.ประสิทธิ์ : ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่่ง สิงคโปร์ก็เป็นตัวอย่าง เวลาเราวางมาตรการต่าง ๆ ในประเทศเราสามารถควบคุมได้ แต่ทันทีที่คนข้างนอกเข้ามาจะหลุดจากระบบการควบคุม หลุดเข้ามา 10 ราย 10 รายนั้นสามารถแพร่กระจาย เมืองไทยเราเป็นโมเดล 1 รายกระจายไม่ถึง 1 แต่บางประเทศที่คุมไม่อยู่ 1 รายจะกระจายไป 3 ราย แล้วถ่ายทอดไป 11 ทอดเพราะยกกำลังสอง เป็นล้านนะครับ เข้ามาแม้แต่ 10 รายถ้าคุมไม่ดีจะกระจายรวดเร็ว นี่เป็นเหตุผลที่คนจำนวนนึงกลับจากต่างประเทศในวันที่ 8 กลับจากอินโดนีเซีย ถึงต้องเชิญมาเก็บตัว 14 วันต้องดูให้หมด เหตุการณ์วันนั้นก็เป็นอุทาหรณ์อย่างหนึ่ง ถ้าเลือกตรวจเทสไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดการตกหล่น

 


ถ้าตัวเลขลดลงเรื่อย ๆ ถึง 22 เมษายน 2563 แต่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นวันปลดแฮก 30  เมษายน 2563 หมด พ.ร.ก.ฮุกเฉิน พอจะเปิดไหวมั้ยสำหรับห้าง เปิดเมืองเหมือนเดิม ?

             ศ. ดร.นพ.ประสิทธิ์ : อันนี้พูดในฐานะคนข้างนอกมองเข้ามา เราตอบแทนผู้บริหารประเทศไม่ได้ ผมเชื่อว่าถ้าตัวเลขอันนี้กว่าจะถึง 30 เราเห็นตัวเลขมากกว่า 22 ไปอีก ถ้าจะลดลงไปเรื่อย ๆ เราอาจต้องเริ่มผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง อย่าลืมว่ามาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นจะมีผลสองอย่าง คือเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจรากหญ้า อันที่สองคือสังคมเครียด ถูกกดดันอยู่เรื่อย ๆ ต้องผ่อนเป็นระยะ ตามความเหมาะสม และชื่อว่าแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน บางจังหวัดอาจผ่อนเยอะ บางจังหวัดอาจต้องเข้ม

เช่นอะไร ?

             ศ. ดร.นพ.ประสิทธิ์ : ผมยกตัวอย่างภูเก็ตผมเชื่อว่ายังต้องเข้ม ในกทม. ตัวเลขล่าสุดดีมาก อัตราการติดเชื้อน้อยลงชัดเจน ตัวเลขสองวันที่ผ่านมาต่างจังหวัดเยอะกว่ากรุงเทพฯ ถ้าจะผ่อนต้องผ่อนในกิจกรรมที่สำคัญ อย่าเพิ่งไปผ่อนมวย อย่าว่ากันนะ อย่าไปผ่อนกิจกรรมที่เป็นสันทนาการ เพราะบ่อยครั้งเกิดการพูดคุย ตะโกนใส่กันและนั่นแหละมีโอกาสเกิดการแพร่เชื้อ เราจะกลายเป็นสิงคโปร์ 2 และขึ้นรอบใหม่ครั้งนี้อาจไม่ง่ายแล้ว

 

ผับบาร์ไม่ควร ?

             ศ. ดร.นพ.ประสิทธิ์ : ไม่ควร ไม่ใช่เรื่องที่จำป็น แต่ร้านอาหารอาจต้องเริ่มดู ร้านตัดผมก็ต้องพิจารณา เราต้องช่วยกัน ย้ำอีกครั้งอย่าเพิ่งดีใจจนเกินไป อย่าผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไป ขอให้ผ่อนไปเป็นสเต็ปเป็นระยะ ๆ ผมยืนยันว่าเมื่อผ่อนปรนคนไข้ใหม่จะเกิดขึ้น แต่จะขึ้นเตี้ยกว่าของเดิม ทำอย่างนี้กราฟเราจะค่อย ๆ เตี้ยลง แต่ระยะเวลากว่าจะเป็นเส้นตรงราบไป ผมเชื่อว่าเป็นปีถึงปีครึ่ง

 



หน้าฝนจะกลับมาระบาดจริงมั้ย ?

             ศ. ดร.นพ.ประสิทธิ์ : มีปัจจัยสองอย่างทำให้หน้าฝนน่ากลัว หนึ่งคือปัจจุบันนี้ถ้าเราป็นหวัดเรารีบไปหาหมอแน่ ถ้าเป็นโควิด 19 เรามีโอกาสตรวจเจอเยอะ แต่พอหน้าฝนคนจำนวนหนึ่งจะคิดว่าเป็นหวัด เลยไม่ไปตรวจ แต่ถ้าเขาเป็นโควิด 19 ระหว่างนั้นเขาแพร่กระจายได้ ปัจจัยที่สองคือ ณ วันนี้เราตรวจคนไข้เราไปประมาณ 1,440 รายต่อ 1 ล้านคน ถ้าถึงตอนนั้นพอเป็นหวัดเราจะแยกไม่ได้ ตอนนี้เราเตรียมการแล้วนะครับ เราเตรียมน้ำยาปูพรมตรวจให้ได้ 2.5 หมื่นรายต่อวัน


วัคซีนจะมีเมื่อไหร่ ?

             ศ. ดร.นพ.ประสิทธิ์ : คงไม่เร็วกว่า 1 ปี และไปถึงปีครึ่ง ถ้าปีครึ่งโควิด 19 หายแล้ว บริษัทยาไม่ผลิตแล้ว เพราะคนไม่ฉีด ไม่คุ้ม นอกจากส่วนไหนไวรัสที่เราไปบล็อกมันและขยายวงต่อให้เป็นจำนวนเยอะ ๆ ฉีดเข้าไปในตัวคน ณ วันนี้มีหลายแลปผลิตวัคซีน แต่ถ้าตามความเห็นผมก็ประมาณ 1 ปี


เรื่องไวรัสกลายพันธุ์มีโอกาสมั้ย ?

             ศ. ดร.นพ.ประสิทธิ์ : ทางทฤษฎีบอกได้เลยว่ามันกลายพันธุ์อยู่แล้ว แต่การกลายพันธุ์ของมันไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่นแปลงของอาการ วันนี้ที่มี 3 สายพันธุ์ใหญ่ ๆ มีการศึกษาว่าไม่น่าจะทำให้อาการรุนแรงเกิดขึ้น โดยทั่วไปสายพันธุ์ที่อยู่จะทำให้อาการน้อยลง เหตุผลที่ทำให้รุนแรงมันจะตายไปพร้อมกับคนไข้ เป็นบาลานซ์อย่างนึง






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.