ศบค.ย้ำโรงแรมสำหรับเฝ้าระวังต้องผ่านหลักเกณฑ์ 5 ด้าน คลายกังวลปชช.พื้นที่ใกล้เคียง
19 เม.ย. 2563, 15:35
วันนี้ ( 19 เม.ย.63 ) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านโซเซียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 และ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โฆษก ศบค. ชี้แจงกรณีคนไทยที่ประเทศมาเลเซียมีการลงทะเบียนเพื่อเดินทางกลับไทย โดยประเทศไทยสามารถดูแลและคัดกรองโรคผู้ที่จะเดินทางกลับเข้ามาได้ประมาณ 350 คนต่อวัน แบ่งตาม 5 ด่านพรมแดนในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งด่านพรมแดนขนาดใหญ่จะสามารถรองรับคนได้ประมาณวันละ 100 คน และด่านข้ามพรมแดนขนาดเล็กจะรองรับคนได้ประมาณวันละ 50 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. – 30 เม.ย. 63 มีผู้ลงทะเบียนประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย2,548 คน ในวันที่ 18 เม.ย. 63 มีผู้ลงทะเบียน 266 คน วันที่ 19 เม.ย. 63 มีผู้ลงทะเบียน 303 คน เฉลี่ยแล้ววันละประมาณ 300 คน จนถึงวันที่ 25 เม.ย. 63 แต่หลังจากวันที่ 26 – 29 เม.ย. 63 จะมีจำนวนผู้ลงทะเบียนเพื่อที่จะเดินทางกลับน้อยลงโดยเหลือเพียงวันละ 15 คน หรือ 1 คน โฆษก ศบค. ขอความร่วมมือคนไทยในต่างประเทศให้กระจายกันลงทะเบียนเพื่อเดินทางกลับในวันอื่น ๆ เพื่อภาครัฐจะได้อำนวยความสะดวกให้แก่ทุกคนที่เดินทางกลับเข้ามาอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อเดินทางกลับประเทศไทยจากหลายด่านข้ามพรมแดนทั่วประเทศ ทั้งหมด 3,211 คนโดยจะเดินทางกลับไทยระหว่างวันที่ 18 – 25 เม.ย. 63 และหลังจาก 26 เม.ย. 63 เป็นต้นไป ผู้ลงทะเบียนเดินทางกลับก็จะน้อยลงเช่นเดียวกับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือให้ทยอยกันเดินทางกลับในช่วงวันที่คนไม่แออัด เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
จากข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศรายงาน พบคนไทยอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียประมาณ 7,000 กว่าคน รวมกับจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนจะเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ซึ่งบางส่วนในตอนนี้ก็ยังคงอาศัยอยู่ตามรัฐต่าง ๆ ของประเทศมาเลเซีย ได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอาสาสมัครในพื้นที่ นำถุงยังชีพข้าวสาร อาหารแห้ง สิ่งของจำเป็นต่าง ๆ ไปมอบให้แก่คนไทย เนื่องจากในประเทศมาเลเซียหลาย ๆ สถานประกอบการหยุดให้บริการชั่วคราว ทำให้คนไทยที่ประกอบอาชีพรับจ้างไม่มีรายได้
โฆษก ศบค. ได้กล่าวขอบคุณสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง ที่ให้การดูแลคนไทยในประเทศมาเลเซีย รวมถึงในส่วนของผู้ที่เริ่มทยอยเดินทางมาแถวด่านข้ามพรมแดน จำเป็นต้องมีการลงทะเบียน และมีเอกสารใบรับรองแพทย์ตามมาตรการ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดต่อคนไทยในประเทศด้วย
โฆษก ศบค. ได้ชี้แจงคำถามของสื่อมวลชน กรณีสถานประกอบการบางแห่ง เตรียมพร้อมที่จะกลับมาเปิดบริการในวันที่ 1 พ.ค. 63 ซึ่งในระหว่างนี้อาจทำให้มีลูกจ้าง พนักงาน เริ่มทยอยเดินทางกลับและก่อให้เกิดความแออัดอีกว่า ยังไม่ได้มีการประเมินสถานการณ์ว่าจะต้องมีการยืดระยะ พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ประกาศใช้ในขณะนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย. 63 ออกไปอีกหรือไม่ ซึ่งต้องมีการหารือในที่ประชุม ศบค. ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศบค. จะนำรวบรวมข้อมูลสำคัญและประเมินอย่างละเอียด อย่างไรก็ตาม การเตรียมการเปิดสถานประกอบการ จะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของประชาชนทุกคน เพื่อเป็นการลดจำนวนตัวเลขของผู้ป่วยให้น้อยลงอย่างต่อเนื่อง
โฆษก ศบค. กล่าวว่า เข้าใจและเห็นใจประชาชนทุกคนที่ขาดรายได้และขาดแคลนอาหาร ในช่วงนี้ มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ที่บริจาคอาหารและสิ่งของจำเป็นเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น ทั้งนี้ หากมีการผ่อนปรนมาตรการ ต้องย้ำเตือนให้ประชาชนทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัย ปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส
โฆษก ศบค. กล่าวย้ำถึงการช่วยเหลือกันของพี่น้องประชาชนในยามวิกฤตนี้ว่า ต้องจัดให้มีความสมดุล เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับประชาชนที่มีความต้องการที่จะช่วยเหลือ แจกจ่ายส่ิงของแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด19 จะต้องประสานเพิ่มเติมกับหน่วยงานของรัฐหรือฝ่ายปกครองในพื้นที่ เพื่อวางแผนจัดลำดับ ให้เกิดการชุมนุมน้อยที่สุด มีระยะห่างที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดการแย่งชิงหรือได้รับของไม่ครบถ้วน โดยภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย มั่นใจได้ว่าสิ่งที่กระทำอยู่นั้นไม่มีส่วนที่จะทำให้เกิดกระแพร่กระจายของโรคโควิด19 ทำให้มั่นใจได้ว่าสังคมจะปลอดโรค มีความสุข อิ่มเอมใจ ทั้งผู้ให้และผู้รับ
สำหรับข้อกังวลใจของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบพื้นที่ State Quarantine นั้น โฆษก ศบค. ชี้แจงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบพื้นที่ State Quarantine คลายกังวล เนื่องจากสถานที่ใช้กักกันตัวสำหรับผู้ป่วยจะใช้พื้นที่ของโรงแรมเป็นส่วนใหญ่ ที่ไม่ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ ทำให้เกิดการจ้างงานเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่ามีประชาชนที่อยู่รอบพื้นที่ไม่ยินยอม ทำให้ต้องมีการถอนพื้นที่ดังกล่าวไป
โฆษก ศบค. ย้ำว่าสำหรับพื้นที่ที่จะใช้ในการทำ State Quarantine หรือ Local Quarantine มีการคัดกรองผู้ป่วยหากพบว่าเข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังโรค คือมีไข้ เจ็บป่วย จะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลทันที แต่ไม่เข้าเกณฑ์จะต้องไปอยู่ในสถานที่กักกันที่ได้มีการจัดเตรียมไว้ ซึ่งหลักเกณฑ์สำหรับสถานที่กักกันมี 5 หมวด คือ หมวด 1 โครงสร้างอาคารและวิศวกรรม หมวด 2 บุคลากรทางการแพทย์ หมวด 3 วัสดุ อุปกรณ์สำนักงาน หมวด 4 อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล และ หมวด 5 การจัดการสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับชุมชน ทั้งนี้ เมื่อแรกเข้าอาจจะไม่มีความผิดปกติ แต่ยังต้องปฏิบัติตามกระบวนการ ระหว่างนี้อาจจะมีการสำแดงอาการของโรคขึ้นมา ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจพบและส่งโรงพยาบาลได้เร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าโรงแรมดังกล่าวนั้น ผ่านการประเมินจากทางกระทรวงสาธารณสุขและฝ่ายมั่นคงแล้ว และชุมชนไม่มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้อย่างแน่นอน
โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึง สถานที่สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยพื้นที่โรงแรม หรือ hospitel สำหรับผู้ที่ใกล้หายเป็นปกติ จะมีการดูแลเป็นอย่างดี มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด ระบบการจัดการรับผู้ป่วย ยาเวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์อย่างครบครัน พร้อมทั้งมีการใช้หุ่นยนต์มาบริการทางการแพทย์เพื่อให้แพทย์สามารถเข้าถึงการบริการผู้ป่วยได้แบบไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง เพื่อลดอัตราการแพร่กระจายของโรคโควิด19 ด้วย
ในตอนท้าย โฆษก ศบค. กล่าวว่า การดูแลการเจ็บป่วยมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่เป็นการเจ็บป่วยทางด้านร่างกายอย่างไรก็ตามในเวลานี้ ถึงแม้กายจะดีขึ้นแต่ใจก็ต้องได้รับการดูแล พร้อมทั้งกล่าวว่า แม้ป่วยกายแต่ใจเราจะดูแลกันฝากถึงพี่น้องประชาชนให้ดูแลกัน ทั้งร่างกายและจิตใจในยามวิกฤตนี้ และเราจะผ่านพ้นไปด้วยกัน