จนท.การไฟฟ้า ขอแจงกรณีปัญหาค่าไฟพุ่ง ทั้งที่ใช้เท่าเดิม
20 เม.ย. 2563, 09:08
กลายเป็นประเด็นที่กำลังเป็นกระแสเรียกเสียงโอดครวญจากประชาชนหลายหลังคาเรือน ต่อกรณีปัญหาค่าไฟฟ้า ที่พบว่าค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว บางรายมีการนำใบแจ้งหนี้ยอดค่าใช้ไฟฟ้าที่สูงผิดปกติออกมาร้องเรียนผ่านโซเชียลฯ จนกลายเป็นประเด็นร้อนเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างแพร่หลาย
ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้น วันนี้เรามีข้อมูลจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA มาบตาพุด ซึ่งครั้งหนึ่งได้เคยออกมาชี้แจงให้ความรู้ ต่อข้อคำถามที่ว่า ทำไมค่าไฟแพง ทั้งที่ใช้ไฟเท่าเดิม ? บอกให้คิดแบบง่าย ๆ ถ้าเราเดินในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร เรากินน้ำ 1 ขวด แต่ถ้าเราเดินในระยะทางที่เท่ากัน ในอุณภูมิ 35 องศาเซลเซียส เราต้องกินน้ำ 2 ขวด เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายอยู่ในระดับปกติ
เพราะฉะนั้น เครื่องใช้ไฟฟ้าก็เช่นกัน ตู้เย็น แอร์ ฯลฯ เราใช้เหมือนเดิม แต่ตัวเครื่องมันทำงานหนักขึ้น เพื่อให้อุณหภูมิภายในมันเท่ากับที่เราตั้งไว้ เมื่อเครื่องทำงานหนักขึ้น หน่วยการใช้ไฟก็เพิ่มขึ้น ถ้าสงสัยให้เอาบิลค่าไฟที่เพิ่งได้รับ ดูหน่วยการใช้ที่พนักงานจด ไปเทียบที่มิเตอร์ดูว่าใกล้เคียงไหม ถ้าใกล้เคียงก็ถือว่าปกติ แต่ถ้าต่างกันมาก ๆ ให้แจ้งการไฟฟ้าในพื้นที่ตรวจสอบหน่วยดู
อันนี้เป็นเพียง 1 ในหลายสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้น ทั้งนี้ มีวิธีแนะนำหากบ้านใครสามารถติดตั้งฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาได้ แนะนำให้ติด เพราะอุณหภูมิภายในบ้านจะลดลง ประมาณ 20 %
ในขณะที่ ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ล่าสุด ก็ได้ออกชี้แจงถึงกรณีค่าไฟที่แพงขึ้น ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีสาเหตุดังต่อไปนี้
1. การไฟฟ้า คิดเงินแบบอัตราก้าวหน้า ใช้เยอะจ่ายเยอะ (ผู้ใช้ไฟสามารถดูรายละเอียด ตามอัตราค่าไฟฟ้าด้านล่าง)
2. ตัวแปรของค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น คือ หน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือ การใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเลยทำให้ราคามันก้าวกระโดด
3. หลายคนคงสงสัย ทำไมหน่วยการใช้ไฟฟ้าถึงขึ้นได้มากขนาดนี้ ?
ไฟฟ้ามาทำอะไรกับมิเตอร์รึเปล่า ?
คำตอบ คือ ไฟฟ้าไม่มีใครไปทำอะไรกับมิเตอร์ลูกค้า
ไฟฟ้าไม่ได้ปรับ หรือ ทำอะไรทั้งนั้น
ไม่ได้ฉวยโอกาสอะไรทั้งนั้น การันตีราคาให้แบบนี้
- ใช้ไปหน่วยที่ 0- 150 หน่วย จ่ายราคาหน่วยละ 3.2484 บาท
- ใช้ไปหน่วยที่ 151 - 400 หน่วย จ่ายราคาหน่วยละ 4.2218 บาท
- ใช้ไปหน่วยที่ 400 ขึ้นไป จ่ายราคาหน่วยนะ 4.4217 บาท
ยกตัวอย่างการคิดแบบคร่าว ๆ
ตัวอย่างที่ 1
ใช้ไฟฟ้าไป 200 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้
150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท
50 หน่วยที่เหลือ × 4.2218 = 211.09 บาท
รวมเป็นเงิน = 698.35 บาท
(ราคายังไม่รวม vat 7 % , ค่าบริการ , หักส่วนลดค่า FT)
ตัวอย่างที่ 2
ใช้ไฟฟ้าไป 400 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้
150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท
250 หน่วยที่เหลือ × 4.2218 = 1,055.45 บาท
รวมเป็นเงิน = 1,542.41 บาท
(ราคายังไม่รวม vat 7 % , ค่าบริการ , หักส่วนลดค่า FT)
ตัวอย่างที่ 3
ใช้ไฟฟ้าไป 600 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้
150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท
250 หน่วยถัดมา × 4.2218 = 1,055.45 บาท
200 หน่วยที่เหลือ × 4.4217 = 884.34 บาท
รวมเป็นเงิน = 2,427.05 บาท
(ราคายังไม่รวม vat 7 % , ค่าบริการ , หักส่วนลดค่า FT)
ตัวอย่างที่ 4
ใช้ไฟฟ้าไป 1,000 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้
150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท
250 หน่วยถัดมา × 4.2218 = 1,055.45 บาท
600 หน่วยที่เหลือ × 4.4217 = 2,653.02 บาท
รวมเป็นเงิน = 4,195.73 บาท
(ราคายังไม่รวม vat 7 % , ค่าบริการ , หักส่วนลดค่า FT)
พอจะเห็นภาพชัดเจนกันขึ้นไหมคะ ว่าทำไมค่าไฟถึงได้สูงขึ้น