ชาวบ้านแห่ไหว้ "รูปปั้นตะกวด" เชื่อร่างเจ้าปู่ตา "เปาะจั๊วะ" สิงสถิต-ทำให้ฝนตก
3 ก.ค. 2562, 16:40
วันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ชาวตำบลตรึม อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ในเขตตำบลตรึม ชาวบ้านผ่านไปมาจะสังเกตเห็นรูปปั้นตะกวดตั้งตระหง่านอยู่ข้างทางโดยมีรูปปั้นตะกวดอยู่บนแท่นปูนสี่เหลี่ยม และด้านข้างจะมีโลโก้ขององค์การบริหารส่วนตำบลตรึม อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ และมีคำขวัญเขียนไว้ประจำตำบลตรึมโดยมีคำขวัญอยู่ว่า ตำบลตรึมเลื่องลือนามกระเดื่องเมืองตะกวด หลากล้วน ลวดลายผ้าไหม มีใบเสมา ธรรมจักรโบราณสถิตย์สถานศาลปู่ตา ประเพณีเก่า ล้ำคุณค่า
รูปปั้นประกวดนั้นเป็นความเชื่อความนับถือของชาวตำบลตรึมตั้งแต่ก่อตั้งมานานหลายปี เชื่อกันว่าตะกวดเป็นตัวแทนพ่อปู่ ชาวตำบลตรึม หากเมื่อพบเจอตะกวดที่เดินไปมาไม่ว่าจะเป็นตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านก็ตามชาวบ้านจะไม่ทำร้ายหรือฆ่าเด็ดขาด เมื่อนานมาแล้ว เคยมีคนฆ่าตะกวดและนำไปทำเป็นอาหารกิน จากนั้นก็เกิดมีเหตุอันเป็นไปเกิดขึ้นกับตัวเองถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต หรือหากว่ามีการงานประเพณีที่สำคัญของตำบล หรือหมู่บ้าน หากไม่บอกไม่กล่าว ต่อรูปปั้นตะกวด การงานนั้นจะดำเนินไปไม่ได้ อย่างเช่นการที่มีเครื่องเสียงเปิดเสียงไม่ได้ในงาน หรือรถอยู่ดีๆก็สตาร์ทไม่ติด แม้จะทำทุกวิถีทางแล้ว เมื่อเจ้าของรถมาจุดธูปบอกกล่าวพ่อปู่รูปปั้นตะกวดเท่านั้น เครื่องไฟ หรือรถยนต์ ก็เปิดใช้ได้ตามปกติเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน เป็นเรื่องเล่า ของคนที่ประสบเจอ มากับตนเอง
ทุกวันนี้ชาวบ้านที่ขับรถผ่านเข้าออก หมู่บ้าน ยังต้องกดบีบแตร คือสัญลักษณ์ส่งสัญญาณบอกกล่าวผ่านไปไหนมาไหนก็ให้พ่อปู่คุ้มครองรักษาแคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายทุกสิ่งอย่างได้ ก่อนนั้นทุกปีจะมีงบประมาณของ อบต.ตรึม จัดงบให้เพื่อไปซื้อข้าวของมาเซ่นไหว้ทุกปีๆละ 2 ครั้งคือเดือน 3 กับเดือน 6 แต่มาระยะหลัง งบได้ขาดหายไป ในเมื่อฝนไม่ค่อยตกต้องตามฤดูกาลชาวบ้านเลยรวมตัวกันออกมาจัดงบมาเองเพื่อขอให้ปู่ตาช่วยให้ฝนตกลงมาเพราะว่าปีนี้ฝนทิ้งช่วงมายาวนาน ชาวบ้านเลยต้องทำการเซ่นไหว้โดยจะแบ่งแยกกันไปคนละโซนทั้ง 4 มุมของตำบลตรึม ข้าวของเครื่องเซ่นไหว้ก็มีจำพวกหัวหมู ไก่นึ่ง เหล้า น้ำ น้ำแดง น้ำหวาน อาหารหวานคาว ผลไม้มงคล 9 อย่างเป็นต้น พอเสร็จพิธีชาวบ้านที่ไปก็จะดึงเอาคางไก่มาดูตามความเชื่อแบบโบราณ ว่าถ้าคางไก่สวยงามหรือไม่ หากว่าคางไก่ตั้งตรงฝนอาจจะไม่ค่อยตก หากว่าคางไก่ตั้งตรงแล้วโค้งงอลงชาวบ้านก็จะเชื่อว่าฝนจะตกลงมา จากนั้นก็จะนำเอาพวงมาลัยไปคล้องให้กับรูปปั้นตะกวด
สำหรับชุมชนบ้านตรึม เป็นชุมชนเผ่ากูยโดยกำเนิด มีภาษาพูดเป็นภาษาประจำเผ่าของตนเอง ซึ่งคล้าย ๆ ภาษามอญหรือเขมรและลาวผสมผสานกัน ชาวบ้านตรึมมีธรรมเนียมการผิดผี การเคารพนับถือบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับ มีประเพณีเซ่นไหว้ผีปู่ตา และบวงสรวงในงานพิธีต่าง ๆ ศาลเจ้าปู่ตาหรือเปาะจั๊วะบ้านตรึม สร้างขึ้นบนเนินดินกลางหมู่บ้าน มีต้นมะขามใหญ่ ปกคลุม และมีต้นโพธิ์แซมอยู่ มีการสร้างแท่นบูชาในกลุ่มใบเสมา และได้อัญเชิญเปาะจั๊วะไปสิงสถิตอยู่ ณ ตรงนั้น ว่ากันว่า เปาะจั๊วะได้สิงอยู่ในร่างของตะกวดเหล่านี้ มีปาฏิหาริย์หลายครั้งที่ตะกวดพาปู่ตาหนีออกจากหมู่บ้าน
เพราะไม่พอใจที่ชาวบ้านตรึมทะเลาะเบาะแว้งกันเอง จนเกิดความแตกแยก ขาดความสามัคคี หรือประกอบกรรม อย่างอื่นที่ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของปู่ตาเปาะจั๊วะ จึงหนีไปอยู่ยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง คือ ไปหมู่บ้านกู่ อำเภอ ปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นชุมชนชาวกูยเช่นกัน บริเวณนั้นตั้งอยู่ริมหนองน้ำขนาดใหญ่ และเชื่อว่าเป็นดินแดนอัน ศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนไม่กล้าแตะต้อง โดยมีปู่ตาเปาะจั๊วะคอบปกป้องเหมือนกับที่บ้านตรึม บริเวณนั้นยังมีปรางค์ 3 หลัง และรอบ ๆ องค์ปรางค์กู่ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ เลื้อยคลาน ตะกวดบ้านตรึมจึงหนีมาซ่อนตัวอยู่ที่นี่ เมื่อตะกวดที่มีปู่ตาเปาะจั๊วะสิงอยู่พากันหนีออกจากหมู่บ้านตรึมจนหมด ก่อให้หมู่บ้านตรึม เกิดอาเพศอีกครั้ง สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ เป็นโรคระบาดล้มตาย ผู้คนเจ็บป่วยเกิดภาวะแห้งแล้ง ข้าวกล้าในนาเหี่ยวเฉา และตายในที่สุด เดือดร้อนคนเข้าทรง ทำให้รู้ว่าปู่ตาได้หนีไปแล้ว ต่างต้องทำพิธีไปเชื้อเชิญมา ผู้คนเดินทางไปยังบ้านกู่ ซึ่งมีระยะทางไกลมาก สมัยโน้นต้องเดินกันเป็นแรมคืนทีเดียว เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าตะกวดจากบ้านตรึมเดินทางคืบคลานไปจนถึงบ้านกู่ กินเวลาเท่าใดหรือหลบหลีกผู้คนและบรรดาสัตว์ร้ายที่เป็นศัตรูไปจนถึงดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไรหลังจากนั้นชาวบ้านก็ได้เชื้อเชิญ ตาเคาจ้ำ ประจำหมู่บ้าน ออกมาทำพิธีบวงสรวงสังเวยเปาะจั๊วะ ที่นั่น เป็นการบอกกล่าว ขอรับตะกวดที่หนีมานั้นขึ้นเกวียน ต่างตีฆ้อง ตีกลองแห่แหนพาตะกวดเดินทาง กลับหมู่บ้านตรึม