"อนุทิน" รับปาก ช่วยเจรจาเรื่องบัตรทอง หาทางอื่นนำเงินเข้า งบกลางฯ สู้โควิดแทน
25 เม.ย. 2563, 14:31
กลายเป็นกระแสดราม่าลุกฮือบนโลกออนไลน์ เมื่อ ผอ.โรงพยาบาล แห่งหนึ่ง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า 21 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา ครม.มีมติหั่นงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง จำนวน 2,400 ล้านบาท เพื่อนำไปตั้งเป็นงบสำรองฉุกเฉิน แก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบ จากการแพร่ระบาดโควิด-19
ต่อมา นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่รัฐบาลมีการว่าจ้างข้าราชการเพิ่มขึ้น สปสช. จำเป็นต้องมีเงินบางส่วน เพื่อจ่ายเป็นค่าแรงในการจ้างบุคลากรจำนวน 4 หมื่นกว่าตำแหน่ง เพื่อเตรียมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จึงจำเป็นต้องนำงบประมาณมาใช้จ่ายในส่วนนี้
ขณะเดียวกัน การบริการผู้ป่วยนั้น ทางรัฐบาลก็ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 3,260 ล้านบาท ซึ่งมาจากงบกลางให้ สปสช. ใช้ในการดูแลคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ในกรณีค่าใช้จ่ายไม่พอ รัฐบาลก็มีงบให้อีกประมาณปีละ 5 พันล้านบาท
ล่าสุดกลุ่มคนรักประกันสุขภาพ นำโดยนายนิมิตร์ เทียมอุดม และนายสมชาย กระจ่างแสง เข้าพบและยื่นหนังสือถึงต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอยู่ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. ด้วย เพื่อคัดค้านกรณีรัฐบาลจะตัดงบประมาณ สปสช. หรือ บัตรทอง 2,400 ล้านบาท เพื่อเกลี่ยให้มาอยู่ในงบกลาง สำหรับรับมือกับโควิด-19 และส่งหนังสือให้ถึงนายกรัฐมนตรีด้วย โดยให้เหตุผล 2 ข้อคือ
1.งบบัตรทอง จำนวน 2,400 ล้านบาทคือเงินในส่วนค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 49 ล้านคน เป็นรายจ่ายประจำที่เป็นไปเพื่อการจัดสวัสดิการแห่งรัฐหรือค่าใช้จ่ายรายหัวตามสิทธิพื้นฐานจากการบริการของรัฐที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน อันเป็นหลักการสำคัญที่จะไม่นำงบประมาณส่วนนี้ไปจัดทำร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณ รวมถึงงบของกระทรวงสาธารณสุข 938.4 ล้านบาทที่เป็นงบลงทุน ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลและการรักษาผู้ป่วย ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการสัมมนาหรือฝึกอบรม หากดึงออกไปจะกระทบกับโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศและคุณภาพในการรักษาผู้ป่วยโดยรวม
2.ภายใต้วิกฤตโควิด -19 ที่ประชาชนเข้าโรงพยายาลน้อยลง เพราะได้รับคำแนะนำให้ชะลอการเข้ารับการรักษาพยาบาล อีกทั้งมีมาตรการเพื่อลดความแออัดรองรับกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่า ภาระโรคหรือภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนจะลดน้อยลงไป ทางเครือข่ายฯ ยังเรียกร้องให้การใช้จ่ายงบประมาณต่างๆตาม พ.ร.บ.โอนเงิน และ พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับเป็นไปอย่างเปิดเผยโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง
นายนิมิตร์ กล่าวหลังการเข้าพบนายอนุทิน ว่า พอใจการพูดคุยวันนี้ ที่ผู้รับผิดชอบตอบด้วยน้ำเสียงที่มั่นใจว่า ยังไงเสียก็ไม่อยากให้มีการโอนเงินจากบัตรทองไป ส่วนจะไปหาเงินที่ไหนมาจ่าย นายอนุทินกับทางปลัดกระทรวง จะต้องไปเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ ซึ่งภาคประชาชนจะติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้และจะดูว่าโอนเข้างบกลางไปจริงเท่าใด
เบื้องต้นได้ข้อสรุปเป็นหลักการร่วมกันคือ ในไตรมาสที่ 3 และ 4 เงินสมทบรายหัวในบัตรทอง จะไม่ถูกแตะต้อง ยังจะได้รับจำนวนเท่าเดิม เพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการรักษาพยาบาล
ส่วนนายอนุทิน ได้หารือกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเรื่องนี้แล้ว และได้ชี้แจงให้ทราบแล้วว่าไม่ควรตัดงบประมาณดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แถลงเรื่องนี้เอง