ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาด ราคาสินค้าเกษตรเดือนพ.ค.63 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยกเว้นยางพาราแผ่นดิบมีโอกาสปรับตัวลดลง
29 เม.ย. 2563, 10:42
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยส่วนมากมีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้นร้อยละ 15 ราคาอยู่ที่ 9,525-10,412 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.10-10.52 เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก อาทิ ประเทศอินเดียและเวียดนามมีมาตรการล็อคดาวน์และชะลอการส่งออกข้าว ประกอบกับประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลกอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อนำเข้าข้าว จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการส่งออกข้าว ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 14,496-14,579 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.88-1.46 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อข้าวจากประเทศฮ่องกง เป็นผลจากความกังวลจากนโยบายปิดประเทศของเวียดนาม ส่งผลให้ประชาชนชาวฮ่องกงมีการกักตุนข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น
ส่วนข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 15,774 -15,912 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.85-2.73 เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง และประเทศเวียดนามจำกัดโควตาในการส่งออกข้าวเหนียวเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศ /ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกินร้อยละ 14.5 ราคาอยู่ที่ 7.54-7.60 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.30 -1.00 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น /น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 7.35-7.70 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.00 - 10.00 เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งในประเทศผู้ผลิตสำคัญ ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อเพิ่มขึ้น และมันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.75 – 1.80 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.57 – 3.45 เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มมีการเปิดเมืองและผ่อนปรนด้านการขนส่งระหว่างประเทศ จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกมันสำปะหลังมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลงมีเพียงยางพาราแผ่นดิบ ซึ่งคาดว่าราคาจะอยู่ที่ 31.50 – 32.95 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.60 - 4.98 เนื่องจากในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมจะมีการเปิดหน้ากรีดยางพาราทั่วประเทศ ทำให้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราธรรมชาติลดลงจากราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อีกทั้งประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ยังใช้มาตรการล็อคดาวน์ จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอรับซื้อน้ำยางสดในประเทศ