มท.2 ติดตามสถานการณ์ COVID-19 ที่ จ.สงขลา มอบจังหวัด น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เตรียมลุยเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจชุมชน
1 พ.ค. 2563, 11:02
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยหลังประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล กับหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตรงกัน ว่า นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้มีประกาศในเรื่องของการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) เรื่องการให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรี กำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีผลบังคับตามประกาศเรื่อง การให้ข้อกำหนดประกาศ และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีผลบังคับ ลงวันที่ 28 เมษายน 2563 โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย
สำหรับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงปรากฏอยู่ แม้จะควบคุมไว้ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขไทย มีความเข้าใจสถานการณ์ และที่สำคัญ คือ ความร่วมมือจากภาคประชาชน แต่เนื่องจากโรคนี้ยังคงระบาดรุนแรงอยู่ในหลายประเทศ และยังมีการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ตลอดจนการไปมาหาสู่ข้ามจังหวัด และการไม่นำพาต่อมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด อันแสดงให้เห็นถึงโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ
อีกทั้ง องค์การอนามัยโลก ได้เตือนให้การผ่อนคลาย หรือการยกเลิกมาตราการป้องกันโรคพึงทำด้วยความระมัดระวัง และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะเป็นที่ปรากฏแล้วว่าภายหลังการยกเลิกการควบคุม สถานการณ์ในบางประเทศกลับรุนแรงขึ้นใหม่ ดังนั้น จึงความจำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลจะได้ประเมินสถานการณ์ โดยอาจเพิ่มความเข้มงวด หรือผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตราการตามข้อมูลของฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง และฝ่ายเศรษฐกิจ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง
สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปควบคู่กัน โดยมุ่งจะให้การควงคุมและการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินยุติลงโดยเร็ว และไม่ย้อนกลับมาอีก ขณะเดียวกัน ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ภายใต้มาตราการป้องกันโรค และคำแนะนำของทางราชการ โดยมีการพิจารณาผ่อนคลายเป็นลำดับขั้นตอนตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และคำนึงถึงประเภทของกิจการที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งขณะนี้ทาง ศบค. เตรียมออกมาตราการผ่อนปรน 6 กิจการทั่วประเทศซึ่งจะประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ได้แก่
1.กิจการตลาดทุกประเภท
2.กิจการร้านจำหน่ายอาหาร
3.กิจการค้าปลีก-ส่ง
4.กิจการกีฬา-สันทนาการ
5.กิจการช่างตัดผม ช่างเสริมสวย
และ 6.กิจการร้านตัดขนสัตว์
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ผู้มีอำนาจตามกฏหมายว่าด้วยการเดินอากาศ และกฏหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองที่ได้ประกาศหรือสั่งไว้ก่อนวันที่ข้อกำหนดนี้ใช้บังคับ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามการให้กระทำการ หรือการผ่อนคลายใด ๆ ถือเป็นประกาศหรือสั่งตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราขกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังมีการมอบหมายภารกิจเพิ่มเติม โดยขอให้จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคราชการ และท้องถิ่น ได้เตรียมเดินหน้าเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน โดยให้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต พร้อมทั้งการสร้างและต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน เช่น เรื่องเกษตรครัวเรือน ฯลฯ ให้แก่ประชาชนในชุมชน นำไปสู่เศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนในชุมชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น พึ่งพาตัวเอง สังคม และประเทศชาติเกิดความเข้มแข็ง สร้างไทยเป็นแหล่งผลิตอาหาร พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคงต่อไป