เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"เจ้าสัวธนินท์" ส่งจดหมาย ตอบกลับ "ลุงตู่"    พร้อมควัก 700 ล้านบาทช่วยสู้โควิด 


2 พ.ค. 2563, 13:08



"เจ้าสัวธนินท์" ส่งจดหมาย ตอบกลับ "ลุงตู่"    พร้อมควัก 700 ล้านบาทช่วยสู้โควิด 




    
 

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ตอบจดหมายของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังมีการส่งจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีของไทย เพื่อให้มาร่วมมือกันช่วยเหลือเรื่องโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศขณะนี้ ซึ่งจดหมายตอบกลับ มีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้

             ผมถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อประเทศโดยเฉพาะในยามวิกฤต ซึ่งซีพีจะสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ และขอเป็นกำลังใจให้นำพาประเทศชาติก้าวผ่านสถานการณ์ COVID 19 ไปให้ได้ นอกจากนี้ ยังขอยกย่องในความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ที่ถือเป็นนักรบแนวหน้ารักษาชีวิตของประชาชน ทำให้ยอดผู้ป่วยมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

             นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน จะเห็นความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทุกภาคส่วนออกมาให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นวิกฤตโควิด 19 ในครั้งนี้ ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจทำหน้าที่ของตนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนไทยอย่างดีมาโดยตลอด พร้อมเสนอสิ่งที่ผมและเครือซีพีดำเนินการแล้วรวมยอดกว่า 700 ล้านบาท และจะมีโครงการที่ดำเนินการระยะต่อไป

             ส่วนสิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การเตรียมเข้าสู่การฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องรักษาความเชื่อมั่น ประคองสังคม วิถีชีวิต ให้สามารถดำรงอยู่ได้ ธุรกิจเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องไม่ล้มหายตายจาก และรักษาการจ้างงานของประชาชน ให้มีรายได้ต่อไป มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

             นอกจากนี้ ในยามฟ้ามืดช่วงโควิด-19 ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อยามฟ้าสว่าง นั่นคือ เตรียมฟื้นฟูประเทศไทย และกล้าตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งไทยมีความพร้อมหมดแล้ว รวมถึงสินค้าทางการเกษตร ก็มีความสำคัญ เป็นรากฐานประเทศ มีอาชีพเกษตรกรครอบคลุมประชากรถึง 9 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 40% ของประชากรประเทศไทย และมีการจ้างงานกว่า 30% มีพื้นดินทำกินกว่า 40%ของพื้นที่ประเทศ

 



 

 

 

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนในจีดีพีของเกษตรกรในประเทศไทย อยู่ที่ 10% เท่านั้น เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน มีหนี้สิน และทำเกษตรในรูปแบบดั้งเดิม ผลผลิตต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ฯ ดังนั้น มาตรการที่ต้องทำเพื่อช่วยเหลือได้แก่

             - ยกระดับราคาสินค้าเกษตร ด้วยการทำเกษตรแบบมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ

             - ส่งเสริมการผลิตสินค้าคุณภาพด้วยเทคโนโลยีและงานวิจัย เน้นการใช้เครื่องจักร ใช้เครื่องทุ่นแรง ลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว และใช้การวิจัยกับการพัฒนาในภาคการเกษตร

             - ระบบชลประทาน เพิ่มพื้นที่การชลประทานและระบบการบริหารจัดการ เพื่อทำให้เกิดผลิตภาพและผลิตผล เพิ่มทางเลือกหลากหลายในการผลิตภาคการเกษตรยิ่งขึ้น

             - โซนนิ่งและคลัสเตอร์ วางแผนจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การคัดเลือกพื้นที่ ชนิดพืชที่จะปลูก วิธีบริหารจัดการ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง การแปรสภาพ การจัดจำหน่าย

             - พืชมูลค่าสูง วิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ ศึกษาพืชที่มูลค่าต่ำ มาเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เป็นที่ต้องการของตลาด

             - ตรวจสอบย้อนกลับ เป็นเรื่องสำคัญของการผลิตอาหาร ต้องรู้ว่าปลูกที่ไหน ปลูกอย่างไร มีการปนเปื้อนหรือไม่

             - เพิ่มมูลค่า ปรับเปลี่ยนการขายการเกษตรแบบเดิม มาแปรรูปเพิ่มมูลค่า สามารถแข่งขันในตลาดได้


ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ธนินท์ เจียรวนนท์






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.