อัญเชิญเถ้าอัฐิ "พระยาพิชัยดาบหัก" 237 ปี กลับบ้านเกิด ชาวอุตรดิตถ์ตอนรับสมเกียรติ
5 ก.ค. 2562, 14:02
วันที่ 5 ก.ค. 62 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่บริเวณย่านสถานีรถไฟพิชัย อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มีผู้คนมากมายข้าราชการ ผู้ใหญ่บ้าน กำนันนักเรียน นักศึกษารวมทั้ง ผู้คนจากต่างพื้นที่ต่างจังหวัดจำนวนมากได้ไปยืนรอรับขบวนอัญเชิญเถ้าอัฐิของ พระยาพิชัยดาบหักซึ่งได้อัญเชิญมาจากวัดราชคฤห์ หรือชื่อเดิมว่า วัดบางยี่เรือ แขวงบางยี่เรือ เขตฝั่งธนบุรี โดยท่านเจ้าคุณ พระเมธีวราลงกรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรวิหาร / ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธิโกศล วัดพลับพลาไชย /และพระเทพวิสุทธิโสภณ วัดราชคฤห์วรวิหาร นำเถ้าอัฐิบรรจุอยู่ในโถเครื่องเบญจรงค์ขึ้นเครื่องบินของบริษัท แอร์เอเซีย เที่ยวบิน ทีจี 3308 จากสนามบินดอนเมือง มาลงที่ท่าอากาศยานพิษณุโลก โดยหน่วยงานราชการและประชาชนของจังหวัดอุตรดิตถ์ได้มีการจัดขบวนรถบุษบกอัญเชิญธาตุอัฐิและขบวนรถเกียรติยศพร้อมประชาชนแต่งกายชุดนักรบโบราณกองเกียรติยศ เป็นขบวนอย่างสมเกียรติ
เมื่อขบวนเข้าเขตอำเภอพิชัยได้มีประชาชนจำนวนมากพร้อมด้วยเหล่าข้าราชการต่างปลื้มปิติกันถ้วนหน้าจากนั้นขบวนจึงลงเดินเท้า มี นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นผู้นำอัฎฐิบรรจุในเครื่องเบญจรงค์ นายพิภัช นางฉวีวรรณ ประจันเขตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด / นายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล ปลัดจังหวัด / นายปรัชญา เสริฐลือชา นายอำเภอพิชัย อัญเชิญพานธูป นางจินดารัตน์ เสริฐลือชา นายกกิ่งกาชาดพิชัย /พันเอก วิสิษฐ์ ทรัพย์สิน รองผู้บังคับการทหารบกที่ 35 ค่ายพิชัยดาบหัก ขบวนเกียรติยศเคลื่อนผ่านร้านค้าชุมชนต่างๆเพื่อให้ชาวพิชัยและประชาชนทั่วทุกสารทิศได้ชื่นชมในสิ่งที่ชาวไทยศรัทธา เคารพบูชาและรอคอยการกลับมาสู่มาตุภูมิบ้านเกิดของท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก
หลังจากที่ได้สร้างวีรกรรมอันกล้าหาญ กู้ชาติกู้แผ่นดิน รบเคียงบ่าเคียงไหล่สุดห้าวหาญยิ่ง สมเป็นทหารเอกคู่พระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กระทั่งเปลี่ยนรัชสมัย เป็นกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน จวบจนสิ้นชีพลงเป็นเวลาเนิ่นนานกว่า 237 ปีจึงได้มีโอกาสอัญเชิญเถ้าอัฐิกลับถิ่นเก่าบ้านเกิดของท่านที่เมืองพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยก่อนนั้นเถ้าอัฐิธาตุถูกบรรจุอยู่ในสถูปที่วัดราชคฤห์วรวิหาร หรือชื่อเดิม วัดบางยี่เรือ เขตธนบุรี ซึ่งจะมีการจัดพิธีสงฆ์สวดพระอภิธรรมทุกคืน และให้ประชาชนทั่วไปได้กราบสักการะเถ้าอัฐิที่บริเวณมณฑลพิธีชั่วคราว หอประชุมอำเภอพิชัย จนถึงวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ จะได้ทำการเคลื่อนย้ายเถ้าอัฐิไปยังสถูปใหญ่ที่ซึ่งชาวพิชัยได้ทำการก่อสร้างรอเหตุการณ์สำคัญนี้ตั้งแต่ปี 2543 ที่ผ่านมา อนุสรณ์สถานพระยาพิชัยดาบหัก หมู่ที่ 9 บ้านห้วยคา อำเภอพิชัย อันเป็นถิ่นกำเนิดบ้านเกิดเดิมของ นายจ้อย หรือ "นายทองดีฟันขาว" นักรบที่ยึดถือสัจจะ"ไม่เป็นข้า 2 เจ้า ไม่เป็นบ่าว 2 นาย"
ประวัติเดิมของพระยาพิชัยดาบหัก เกิดในยุคแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ.2284 เดิมชื่อ เด็กชายจ้อย เกิดที่บ้านห้วยคา เมืองพิไชย (เขียนแบบเดิม) แขวงเมืองพิษณุโลก (ปัจจุบันคือพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์) ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในเชิงชั้นการต่อสู้ทั้งหมัดมวย มือเปล่าและศาสตราวุธอันเชี่ยวชาญ เมื่อปีพ.ศ.2305 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น องครักษ์ประจำพระองค์พระยาตาก มีบรรดาศักดิ์ เป็น "หลวงพิชัยอาษา" ต่อมาปีพ.ศ.2308 พม่ายกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาจนถึงวันที่ 3 มกราคม ปี 2309 กรุงศรีอยุธยาใกล้แตก ต่อมาวันที่14มิถุนายน2310 พระยาตากเข้าตีเมืองจันทบุรีได้และสถาปนาตนขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อกอบกู้กรุงศรีอยุธยา / ปีพ.ศ.2310 หลวงพิชัยอาษา ร่วมทัพพระเจ้าตากสิน เข้าตีทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น สุกี้ แม่ทัพใหญ่พม่ายอมจำนน
ครานั้นพระเจ้าตากสินได้แต่งตั้งหลวงพิชัยอาษา เป็น”เจ้าหมื่นไวยวรนารถ”เป็นนายทหารเอกราชองครักษ์ ต่อมาได้ยกทัพไปตีเมืองพิมาย ที่กรมหมื่นเทพพิพิธตั้งตัวเป็นกษัตริย์ครองเมืองพิมาย หลังชนะศึก ได้รับแต่งตั้งเป็น "พระยาสีหราชเดโช" และปี 2312 ได้ยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช จนได้รับชัยชนะ /พ.ศ.2313 ไปยึดเมืองพิษณุโลกและ เมืองสวางคบุรี (บ้านพระฝาง ปัจจุบัน) และได้รับการแต่งตั้งเป็น "พระยาพิชัย" ครองเมืองพิไชย (อำเภอพิชัย ในปัจจุบัน) พร้อมทั้งได้รับพระราชทานเครื่องยศเสมอด้วย "เจ้าพระยาสุรสีห์" / ปี2316 โปสุพลา แม่ทัพพม่า ยกทัพเข้ามาตีเมืองพิไชย พระยาพิชัยถือดาบเหล็กน้ำพี้ชื่ อ “นันทกาวุธ” ต่อสู้กับข้าศึกแบบตะลุมบอนกลางทุ่งนากว้าง บ้านคอรุม กระทั่งดาบข้างมือขวาหักสามารถต่อสู้ขับไล่ข้าศึกพ่ายแพ้ล่าถอยไป ต่อมาได้สมญานามว่า”พระยาพิชัยดาบหัก” / ปีพ.ศ.2325 สิ้นแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขึ้นเสวยราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประทานให้ พระยาพิชัยดาบหักซึ่งเป็นคนดี มีฝีมือเชิงการรบการต่อสู้และมีหัวใจซื่อสัตย์ ให้อยู่ช่วยงานราชการต่อไป แต่พระยาพิชัย ได้ทูลขอถวายความกตัญญูและความจงรักภักดีต่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินและขอถวายชีวิตเป็นราชพลีตามสมเด็จพระเจ้าตากสินไป เมื่อวันที่ 7เมษายน ปี2325 นับเป็นวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของวีรบุรุษผู้กล้าหาญ นามว่า”พระยาพิชัยดาบหัก” และที่สำคัญสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้สร้างพระปรางค์บรรจุเถ้าอัฐิของพระยาพิชัยดาบหักไว้ที่วัดบางยี่เรือ หรือวัดราชคฤห์ในปัจจุบัน