เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"กรมราชทัณฑ์" ลั่นไม่มีคุกวีไอพี


6 ก.ค. 2562, 14:02



"กรมราชทัณฑ์" ลั่นไม่มีคุกวีไอพี




     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงข้อมูลจากเวทีเสวนาเรื่อง การปฏิรูปกระทรวงยุติธรรม เสียงสะท้อนจากเรือนจำ จัดโดยสถาบันปฏิรูปประเทศไทยร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่นำอดีตผู้ต้องขังกลุ่มแกนนำพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย มาถ่ายทอดประสบการณ์ในเรือนจำ ว่า เนื้อหาในการเสวนาอาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดในหลายประเด็น เช่น กรณีการใช้เครื่องพันธนาการเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานในกรณีผู้ต้องขังมีพฤติการณ์ที่น่าจะหลบหนีการควบคุม หรือเมื่อผู้ต้องขังต้องถูกควบคุมตัวออกนอกเรือนจำ หากเรือนจำไม่ควบคุมดูแลและใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขังตามที่ข้อกฎหมายกำหนด เมื่อผู้ต้องขังก่อเหตุหลบหนี เจ้าหน้าที่จะมีความผิดทางอาญา ขณะที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบด้านความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม เรือนจำจะไม่ใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขังอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปี ผู้ต้องขังหญิง หรือผู้ต้องขังซึ่งเจ็บป่วย



            “ประเด็นการจัดเลี้ยงวันเกิดภายในเรือนจำ ยืนยันว่าระเบียบของเรือนจำไม่เคยอนุญาตให้ผู้ต้องขังจัดเลี้ยงวันเกิดหรือดูแลผู้ต้องขังอื่น กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการลักลอบปฏิบัติโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นเพื่อบริจาคเลี้ยงอาหารผู้ต้องขัง โดยแอบอ้างว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการและการสงเคราะห์ผู้ต้องขังในเรือนจำ” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว

                สำหรับกรณีการเจ็บป่วยของผู้ต้องขัง การเข้าถึงแพทย์และยารักษาโรคนั้น เรือนจำทุกแห่งจะมีแพทย์เข้ารักษาผู้ต้องขังเป็นประจำ และพยาบาลวิชาชีพประจำสถานพยาบาลทุกแห่ง เพื่อให้บริการด้านสุขภาพกับผู้ต้องขัง แต่ด้วยอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ไม่สมดุลกับจำนวนผู้ต้องขังที่มีอยู่จำนวนมาก อาจทำให้ไม่ได้รับการบริการที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ ส่วนเรื่องการปิดประตูเรือนนอน เวลา 15.30 น. นั้น เป็นการปิดประตูก่อนเวลาพลบค่ำ เป็นการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมผู้ต้องขังเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังก่อเหตุแหกหักหลบหนีหรือก่อความวุ่นวายโดยอาศัยทัศนวิสัยในเวลากลางคืนข้อเสนอให้ขยายการปิดประตูเรือนนอนให้ล่าช้ากว่าเดิมจึงเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อระบบการควบคุมผู้ต้องขังและเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน


    พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวถึงข้อเสนอให้มีคุกสำหรับนักโทษการเมือง คุกยาเสพติด หรือคุกสำหรับผู้สูงอายุ ว่า ปัจจุบันมีเรือนจำและทัณฑสถานจำนวน 143 แห่ง และมีผู้ต้องขังในความควบคุมดูแลเกือบ 400,000 คน โดยได้กำหนดประเภทของเรือนจำสำหรับการควบคุมและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังเป็นการเฉพาะด้านอยู่แล้ว ทั้งนี้การพิจารณาสร้างเรือนจำเฉพาะทางเพิ่มเติม ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นสูงสุด ความสอดคล้องต่อนโยบายยุติธรรมทางอาญาในปัจจุบัน ตลอดจนประโยชน์ที่มีต่อสังคมและประชาชนผู้เสียภาษี เพราะต้องเกี่ยวข้องกับงบประมาณการก่อสร้าง ซึ่งเฉพาะอาคารสถานที่จะต้องใช้งบประมาณกว่า 850 - 1,500 ล้านบาท ยังไม่นับรวมอุปกรณ์เทคโนโลยีเสริมความมั่นคงและการควบคุม เช่น ระบบกล้องวงจรปิด เครื่องเอ็กซเรย์ ฯลฯ ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมกว่า 100 ล้านบาท และต้องเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้พอเพียงต่อการควบคุมผู้ต้องขังอีกด้วย

                “ส่วนข้อเรียกร้องให้แก้ระเบียบเรือนจำให้ประชุมปรับชั้นนักโทษทุกเดือนนั้น การเว้นห้วงระยะเวลาในการเลื่อนชั้นผู้ต้องขัง ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้พัฒนาความประพฤติและจิตใจ ตลอดจนการประเมินผลพฤติกรรมโดยเจ้าหน้าที่ จึงเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการเลื่อนชั้นผู้ต้องขังในการหล่อหลอมและพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า เรือนจำประสบปัญหาผู้ต้องขังมีจำนวนมาก ทำให้เกิดข้อจำกัดในการดูแล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ หรือสถานที่ใน การควบคุมคับแคบเกิดความแออัด ซึ่งกรมราชทัณฑ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.