เตรียมเปิดการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านฟรีทีวี 17 ช่อง 18 พ.ค.นี้ ทดลองก่อนใช้จริงวันเปิดเทอม
14 พ.ค. 2563, 18:11
วันนี้ ( 14 พ.ค.63 ) กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงข่าวการจัดการศึกษาทางไกลผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น 3 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี และประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ พ.อ.ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมแถลงความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี และประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดตั้งขึ้น เมื่อปี 2538 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กไทย เพื่อช่วยจัดการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนที่มีครูสอนไม่ครบชั้น และครูสอนวิชาที่ไม่ได้จบตรงสาขา เป็นต้น ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ ได้จัดการศึกษา โดยใช้ดาวเทียมในการส่งสัญญาณไปยังโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 15,000 แห่ง ครอบคลุมเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ชายขอบ พื้นที่เกาะแก่ง และพื้นที่อื่น รวมจำนวนนักเรียนกว่า 900,000 คน
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ ปรับปรุงพัฒนาการออกอากาศของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ อาทิ การปรับปรุงระบบการส่งสัญญาณจาก SD เป็น HD เพื่อให้มีภาพและเสียงที่คมชัด, การปรับปรุงห้องเรียนให้ทันสมัย เช่น การใช้ Smart board เพื่อให้นักเรียนปลายทางเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น และเกิดความสนุกในการเรียนรู้, เพิ่มช่องทางการออกอากาศ ผ่าน Application และ YouTube, ปรับรูปแบบการสอนจากสอนสดเป็นการบันทึกเทป เพื่อให้สามารถนำมาตัดต่อและแก้ไขได้ ซึ่งการบันทึกเทปหนึ่งครั้ง สามารถนำไปใช้ได้ 2 ปี แต่หากมีการปรับปรุงหลักสูตรก็จะมีการบึนทึกเทปแก้ไข อีกทั้ง ได้นำเทปบันทึกการสอนแขวนไว้บน Cloud ล่วงหน้า 3 วัน เพื่อให้ครูปลายทางสามารถเตรียมการสอนล่วงหน้าได้ รวมทั้งการปรับเนื้อหา เพื่อจัดทำการเรียนการสอนให้กับนักเรียนระดับชั้น อนุบาล 1-มัธยมศึกษาปีที่ 3 และส่งสัญญาณการออกอากาศไปยังครูปฐมวัยของสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมทั้งจัดการศึกษาให้กับโรงเรียนขยายโอกาสด้วย ตลอดจนขยายกลุ่มเป้าหมายในการรับสัญญาณไปยังโรงเรียนในสังกัด อปท. กว่า 6,800 แห่ง, โรงเรียนพระปริยัติธรรม กว่า 400 แห่ง, โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน กว่า 200 แห่ง และ ศูนย์ กศน. 29 ศูนย์ ครอบคลุมผู้เรียนกว่า 1.3 ล้านคน สำหรับโรงเรียนเอกชน หากมีความสนใจก็สามารถใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้ง ครูโรงเรียนต้นทางจากโรงเรียนวังไกลกังวล ได้รับอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการสอนทางไกล โดยคำนึงถึงความเข้าใจเนื้อหาของนักเรียนปลายทาง รวมถึงปรับรูปแบบการถ่ายทำให้มีความทันสมัยมากขึ้น
มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการเตรียมความพร้อมจัดการศึกษาให้กับเด็กทั่วประเทศ ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ซึ่งต้องยอมรับว่าการเรียนหนังสือผ่านโทรทัศน์ อาจไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการสอนของครูในชั้นเรียน แต่ในสถานการณ์จำเป็นเช่นนี้ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ มีเนื้อหาการเรียนการสอนที่พร้อมออกอากาศได้ทันที และจะมีการฉายซ้ำตามเวลาที่กระทรวงศึกษาธิการพิจารณา โดยกระทรวงศึกษาธิการได้คำนึงถึงความแตกต่างของเด็กเป็นสำคัญ ทั้งเด็กที่อาศัยอยู่ในเมือง, เด็กที่มีความเหลื่อมล้ำสูง, เด็กพิเศษ และเด็กอาชีวะที่ต้องใช้ทักษะฝีมือแรงงาน และต้องมีการฝึกปฏิบัติ จึงได้จัดทำเนื้อหาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและการอาชีวศึกษาเพิ่มเติม
ในส่วนของข้อกังวลในการจัดการเรียนการสอนผ่านทางโทรทัศน์ในช่วงการระบาดของ COVID-19 นั้น ประกอบด้วย
1) นักเรียนกลุ่มเป้าหมายของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ ไม่ใช่นักเรียนในโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ ที่อาจจะมีความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียนการสอนครบสมบูรณ์อยู่แล้ว
2) สพฐ. ได้ปรับหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในระดับชั้น ป.3, ป. 6 และ ม.3 ซึ่งเทปการสอนบางส่วนยังไม่ได้ทำการแก้ไขเนื้อหา เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงประสานกับสำนักงานส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาที่บันทึกเทปไว้
3) การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจะประเมินเฉพาะการเข้าถึงการใช้งาน และติดตามผลการสอบ O-NET และการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (National Test: NT) ของสถานศึกษา ว่ามีความก้าวหน้าเพียงใด แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมิน
4) ความหลากหลายของสถานศึกษาทั่วประเทศ
5) มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ใช้หลักสูตรแกนกลางของ สพฐ.เป็นหลัก และยังไม่มีเนื้อหาที่จะสอนเกี่ยวกับ Soft Skill
6) การออกอากาศในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ เป็นการปรับพื้นฐานให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน เพื่อดูว่าเกิดปัญหาในส่วนใดบ้าง ก่อนเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563
สุดท้ายนี้ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ มีความยินดีที่ ศธ. มีแนวคิดที่จะจัดทำแนวปฏิบัติ หรือคู่มือประกอบการเรียนผ่านโทรทัศน์ เพื่อแจกให้กับครู ผู้ปกครอง และนักเรียน อันจะทำให้ทุกคนทราบแนวทางการเตรียมความพร้อม และการดำเนินการตามบริบทที่แตกต่างกัน อีกทั้ง ขอให้เราทุกคนร่วมกันน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทั้งสองพระองค์ทรงสร้างสิ่งที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ทันที
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการเตรียมความพร้อมจัดการเรียนการสอนผ่านโทรทัศน์ในช่วงวิกฤต COVID-19 เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ แม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะพบผู้ติดเชื้อน้อยลงมาก แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะจากข้อมูลทางการแพทย์ พบว่า เด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 อาจไม่แสดงอาการ และหากโรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอน เด็กก็จะแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นในโรงเรียน รวมถึงนำเชื้อไวรัสกลับไปแพร่ให้กับบุคคลในครอบครัว ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกันด้วย อันจะส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบการสาธารณสุขของประเทศไม่สามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ทั้งหมด ดังนั้น โรงเรียนจะต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและประชาชน การตัดสินใจทุกอย่างจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของทุกคนเป็นหลัก เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและทำให้การแพร่ระบาดกลับมาอีกครั้ง
ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหา เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความพร้อม ในการจัดการเรียนการสอนทางไกลมากที่สุด ทั้งนี้ เป็นเพราะวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงก่อตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นเพราะพระราชปณิธานอันแนวแน่ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงสืบสานต่อและพัฒนาระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ให้เป็นระบบที่มีความพร้อม มีประสิทธิภาพ และครอบคลุม โดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ ได้ทุ่มเทความคิด กำลังกาย และกำลังใจ ในการจัดทำและพัฒนาสื่อสาระการเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความพร้อมในการสอนทุกวิชาผ่านทางโทรทัศน์ อีกทั้ง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก กสทช. ในการจัดสรรช่องสัญญาณโทรทัศน์จำนวน 17 ช่อง ครอบคลุมทุกระบบทั้งดิจิทัล เคเบิล และดาวเทียม เพื่อจัดการเรียนการสอนในทุกระดับชั้น ส่วนการเรียนออนไลน์เพิ่มเติมก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของโรงเรียนตามบริบทที่แตกต่างกัน
สุดท้ายนี้ ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ, กสทช. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ที่ช่วยผลักดันให้เกิดความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนในช่วง COVID-19 ซึ่งการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด กระทรวงศึกษาธิการจะประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและรอบด้าน ในขณะเดียวกันก็จะหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่ยังไม่พบการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อรวมกันพิจารณาการเปิดทำการเรียนการสอนที่โรงเรียน
พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช. กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 กสทช. ได้มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่บ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 อาทิ การเพิ่มปริมาณอินเทอร์เน็ตและการโทรฟรี การจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือโรงพยาบาล เป็นต้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีแนวทางที่จะจัดการเรียนการสอนผ่านทางโทรทัศน์ แทนการสอนในชั้นเรียน กสทช. ก็ได้จัดสรรคลื่นความถี่ผ่านโทรทัศน์ จำนวน 17 ช่อง เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการเผยแพร่เนื้อหาการเรียนการสอน ครอบคลุมตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษานอกระบบ ไปยังผู้เรียนทั่วประเทศ ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้เด็กด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ กสทช. ยินดีให้การสนับสนุนในทุกด้าน และหวังว่าการใช้ระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน จะเกิดประโยชน์สูงสุดและช่วยให้การจัดการสอนการสอนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเต็มที่
การแถลงข่าวในครั้งนี้ มีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมงาน อาทิ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง