ปภ. ประสานกรุงเทพมหานคร และ 62 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและคลื่นลมแรง 19 – 21 พฤษภาคม 2563
19 พ.ค. 2563, 11:26
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุไซโคลน “อำพัน” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง กำลังจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศอินเดียและประเทศบังคลาเทศในระยะต่อไป ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของประเทศ อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 19 – 21 พฤษภาคมนี้
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง จึงประสานกรุงเทพมหานคร และ 62 จังหวัด ประกอบด้วย
ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง 15 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ราชบุรี กาญจนบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และนครนายก
ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมให้หน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการและระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ฝนตกสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มต่ำ อีกทั้งสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตจัดเตรียมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนทันที นอกจากนี้ ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง รวมถึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้โดยด่วนทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง