เตรียมยกโซนอู่ตะเภา ขึ้นเป็น “เมืองการบินภาคตะวันออก” บนพื้นที่ 6,500 ไร่
21 พ.ค. 2563, 15:14
นางสาว ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานว่า 21 พฤษภาคม 2563 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2563 โดยที่ประชุมได้พิจารณา โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อพัฒนา “เมืองการบินภาคตะวันออก” ในพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญ คือ
1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3
2.ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน
3.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน
4.เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์
6.ศูนย์ฝึกอบรมการบิน
สำหรับการลงทุนของโครงการ รวมเป็นเงินลงทุนประมาณ 290,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐจะได้ประโยชน์เพิ่มเติม คือ ด้านการเงิน เช่น ค่าเช่าที่ดิน ส่วนแบ่งรายได้ มูลค่าปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท เป็นเงินรวม 1,326,000 ล้านบาท ใน 50 ปี
การได้ภาษีอากรเพิ่มมากกว่า 62,000ล้านบาท ซึ่งไม่นับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก นอกจากนี้ ยังเกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตําแหน่งต่อปีในระยะ5ปีแรก มีการเพิ่มเทคโนโลยีและพัฒนาทักษะแรงงานด้านธุรกิจการบินและธุรกิจเชื่อมโยง รวมทั้ง เมื่อสิ้นสุดสัญญา ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ
ทั้งนี้ อีอีซี ได้วางยุทธศาสตร์ให้เมืองการบินภาคตะวันออก ทําภารกิจสําคัญ 3 ประการคือ
1) เป็น “สนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง
2) เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมายโดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” ของ EEC
3) เป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 ก.ม. โดยรอบสนามบิน ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของการพัฒนา Eastern Seaboard ที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสําคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของ กรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้ง ทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ
นอกจากนี้ “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก” ยังสอดคล้องและเชื่อมโยงกับ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” สามารถประโยชน์ให้กันและกัน ที่ประชุมจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงานทั้ง 2 โครงการ เพื่อให้มีการทํางานอย่างบูรณาการเป็นไปตามแผนงานที่กําหนดเชื่อมโยงแผนงานการก่อสร้าง และแผนการเปิดบริการให้สอดคล้องหรือพร้อมกันได้
“สนามบินอู่ตะเภาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการรถไฟความเร็วสูงและสร้างความต้องการทําให้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้น ส่วนรถไฟความเร็วสูงทําให้การเดินจากกรุงเทพฯมายังสนามบินอู่ตะเภาเป็นไปอย่างไร้รอยต่อส่งผลให้ได้รับความนิยมและความสะดวกสบายยิ่งขึ้นในการใช้สนามบิน หากปราศจากโครงการใดโครงการหนึ่ง ประเทศและประชาชนจะได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่”
ที่มา กวาง ไตรศุลี ไตรสรณกุล