"อุบลราชธานี" โรคไข้เลือดออกระบาดหนัก! ดับแล้ว 12 ป่วยเกือบ 5 พันคน
8 ก.ค. 2562, 11:49
ผู้สื่อข่าว onb news รายงานว่า นายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกกำลังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศไทย เพราะแต่ละปีมีผู้ป่วยจากทุกภาคเป็นจำนวนมากและโรคนี้มักระบาดมากในฤดูฝนเพราะมียุงลายชุกชุมปล่อยเชื้อโรคไข้เลือดออกไปสู่คนเป็นระยะๆ
การติดต่อของโรคไข้เลือดออก มักติดต่อจากคนไปสู่คน ซึ่งมียุงลายเป็นตัวพาหะที่สำคัญ โดยยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี จากนั้นเชื้อจะเข้าไปฟักตัวและเพิ่มจำนวนในตัวยุงลาย ทำให้มีเชื้อไวรัสอยู่ในตัวของยุงตลอดระยะเวลาของมันประมาณ 1 - 2 เดือน แล้วถ่ายทอดเชื้อไปสู่คนที่ถูกกัดได้ ยุงลายเป็นยุงที่อาศัยอยู่ในบริเวณบ้าน มักออกกัดเวลากลางวัน มีแหล่งเพาะพันธุ์ คือ น้ำนิ่งที่ขังอยู่ในภาชนะเก็บน้ำต่างๆ อาทิ โอ่ง แจกันดอกไม้ ถ้วยรองขาตู้ จาน ชาม กระป๋อง หม้อ ยางรถยนต์ หรือกระถาง เป็นต้น
โดยการรายงานตั้งแต่ต้นปี 2562 ถึงปัจจุบัน โรคไข้เลือดออก อันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยบางรายแค่มีอาการไข้ขึ้นสูง พอไข้ลดก็กลับบ้านได้เลย แต่ผู้ป่วยบางรายอาการหนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่เชื้อที่ได้รับ และภูมิต้านทานโรคของตัวผู้ป่วยเอง จึงทำให้ความรุนแรงของอาการไข้เลือดออก ในแต่ละคนไม่เท่ากัน โดยช่วงที่อันตรายที่สุด ของโรคไข้เลือดออก ในช่วงที่รักษาตัวจนไข้ลด ภายใน 48 ชั่วโมง ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจเกิดอาการช็อก หรือ เลือดออกตามร่างกาย ซึ่งสาเหตุจากการเสียชีวิตในโรคนี้ก็มาจากอาการช็อก ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง ( แม้เราจะไม่เห็นผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำจากภายนอกแต่ย่างใด ) น้ำในหลอดเลือดจะไหลไปอยู่ในเนื้อเยื่อข้างเคียง ความดันเลือดลดลง จนเกิดอาการช็อกตามมา แต่หากไม่แสดงอาการใด ๆ ก็จะถือว่าปลอดภัยแล้ว
ขณะนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ในปัจจุบันสถานการณ์โรคไข้เลือดออกระบาดอย่างต่อเนื่องและตลอดทั้งปี สถานการณ์ปัจจุบัน ( ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 ) จังหวัดอุบลราชธานี พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก รวม 3,943 คน และ เสียชีวิต จำนวน 12 คน
โดยระยะนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี จึงขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งจิตอาสา เพื่อรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกสถานที่ ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน วัด และโรงพยาบาล ซึ่งทราบว่า ยังมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้มีความเสี่ยงที่โรคไข้เลือดออกอาจจะแพร่กระจาย และขยายเป็นวงกว้าง
สำหรับพื้นที่เสี่ยงโรคไข้เลือดออกต้องมีการควบคุมเป็นพื้นที่พิเศษทันที ซึ่งระยะนี้ทางสาธารณสุขต้องเรียกระดมกำลังยกทีม ทุกภาคส่วนร่วมในการรณรงค์ยับยังการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในทั่วทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง