เผยคลิปพยาธิ ในปลาร้า แนะ ก่อนทานควรทำให้สุกก่อน
25 พ.ค. 2563, 11:51
PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ออกมาเตือน ท่านที่ชื่นชอบทานปลาร้า ปลาส้มดิบ ควรจะทำอย่างไรให้ไร้พยาธิ
มีการสำรวจตรวจพยาธิใบไม้ตับและใบไม้ลำไส้ขนาดเล็กในปลาร้าและปลาส้มจาก 73 ตลาด ใน 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและพยาธิใบไม้ลำไส้ขนาดเล็ก 9.58% (7/73) ส่วนใหญ่พบในปลาร้า และเป็นตัวอย่างที่เก็บมาจากศรีสะเกษ สกลนคร ขอนแก่น มุกดาหาร และอุดรธานี
สำรวจปลาส้มจาก 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาตรวจหาระยะติดต่อพยาธิใบไม้ตับ (metacercaria:mc) พบ 20.2% โดยมีความหนาแน่นของเชื้ออยู่ระหว่าง 1 - 268 mc/kg
สำรวจปลาร้าและปลาส้ม จาก 5 อำเภอในจังหวัดอุดรธานีและ 7 อำเภอจากกาฬสินธุ์ พบระยะติดต่อพยาธิใบไม้ตับในตัวอย่าง ปลาร้า 9.1% ปลาส้ม 42.9% พบระยะติดต่อพยาธิจากตัวอย่างในอำเภอเมือง กุมภวาปี และกุดจับ จังหวัดอุดรธานี
วิธีกำจัดพยาธิใบไม้ตับอย่างง่ายๆ ในปลาเกล็ดขาวกลุ่มวงศ์ปลาตะเพียน อาทิ ปลาขาวนา ปลาขาวสร้อย ปลาตะเพียน ปลากระสูบ
-ความร้อนด้วย microwaving (400 หรือ 800 W) หรือต้มที่ 90 องศาเซลเซียส ที่ 5 นาที สามารถฆ่าระยะติดต่อพยาธิได้
-แช่แข็งที่ -20 องศาเซลเซียส 48 ชั่วโมง สามารถฆ่าระยะติดต่อพยาธิได้
-ปลาส้ม แช่แข็งที่ -20 องศาเซลเซียส 24 ชั่วโมง สามารถฆ่าระยะติดต่อพยาธิได้
-ปลาส้ม แช่แข็งที่ 4 องศาเซลเซียส 24-48 ชั่วโมง ไม่สามารถฆ่าระยะติดต่อพยาธิได้ เมื่อนำไปป้อนในแฮมสเตอร์เลี้ยง 1 เดือน ตรวจพบตัวเต็มวัย 40%
การสำรวจพยาธิในประชากรไทยทั้งประเทศของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 15,555 ราย
พบการติดเชื้อปรสิตในระบบทางเดินอาหาร 18.1% พบการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ Opisthorchis viverrini สูงที่สุด 8.7% (1,351 ราย)
มาดูคลิปพยาธิใบไม้ตับที่เก็บมาจากปลาขาวนา ปลาตะเพียน ปลากระสูบจากตามแหล่งน้ำจืด ได้ระยะติดต่อแล้วก็นำไปป้อนหนูแฮมสเตอร์แล้วเลี้ยง 1 เดือน ก็ได้พยาธิใบไม้ตับยั้วเยี้ยเลย ฉะนั้น ถ้าท่านชอบทานก้อยปลาดิบ ปลาร้า ปลาส้มดิบ ท่านก็อาจจะติดพยาธินี้ได้
การนำเนื้อ เช่น เนื้อวัว หมู มาหั่นเป็นชิ้น แล้วจิ้มกับน้ำจิ้มแจ่วขมที่มีส่วนผสมของเพี้ยหรือขี้วัวอ่อน แล้วทานสดๆแบบนี้ ท่านก็มีมีสิทธิ์ได้รับพยาธิตืดวัวไปเลี้ยงในท้องๆ เป็นแน่แท้ เพราะในเนื้อวัวดิบที่เลี้ยงตามธรรมชาติและไม่ได้รับยาถ่ายพยาธิ มักจะมีระยะตัวอ่อน (cysticercus) ของพยาธิแทรกอยู่
เมื่อรับประทานเนื้อสดนี้เข้าไป พยาธิจะออกจากซีสต์หุ้ม คลืบคลานไปอาศัยอยู่ที่ลำไส้เล็ก คอยดูดซึมแย่งอาหาร
(คลิปพยาธิในลำไส้จากการส่องกล้องของหมอ https://youtu.be/iP6m-JS-O_c)
ผู้ป่วยบางรายจะรู้สึกอืด แน่นท้อง หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด บางรายอาจจะหงุดหงิด นานๆเข้าอาจจะพบปล้องพยาธิหลุดออกมาทางก้นได้
หากท่านชื่นชอบทานแบบนี้แนะนำให้ไปโรงพยาบาล ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิตืดวัว เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
ที่มา PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี