ออมสิน เตรียมปล่อยสินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำ-ผ่อนนาน ช่วยคนไทยสู้โควิด-19
27 พ.ค. 2563, 15:25
ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังได้ให้ไว้ โดยความคืบหน้าของมาตรการที่ธนาคารดำเนินการอยู่ มีดังนี้
1. การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติเป็นเวลา 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563 มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ทั้งลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการ SME ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท รวม 2,894,333 ราย วงเงินรวม 1.129 ล้านล้านบาท
2. สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid 19 หรือเงินกู้ฉุกเฉิน สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ วงเงิน 10,000 บาทต่อราย และสำหรับผู้มีรายได้ประจำ วงเงิน 50,000 บาทต่อราย วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท
ปัจจุบันมีผู้ยื่นกู้แล้วจำนวน 2,663,197 ราย และได้ส่งข้อความ SMS นัดให้มายื่นเอกสารแล้ว 1,969,739 ราย โดยได้ดำเนินการอนุมัติไปแล้ว 310,006 ราย ซึ่งธนาคารได้เร่งดำเนินการทำทุกวันโดยไม่มีวันหยุด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้
3. เงินกู้ซอฟต์โลน (Soft Loan) 150,000 ล้านบาท มีผู้ยื่นกู้แล้ว 12,352 ราย วงเงินรวม 131,976.81 ล้านบาท ปัจจุบันได้อนุมัติแล้ว 105,242.34 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่กำลังทยอยอนุมัติอีก 44,757.66 ล้านบาท คาดว่าภายในเดือนมิถุนายนจะสามารถอนุมัติได้ทั้งหมด
ล่าสุด ธนาคารได้อนุมัติซอฟต์โลนอีก 2,000 ล้านบาท ให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ให้กับสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่นำทรัพย์สินมาจำนำในช่วงนี้โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ
สำหรับโครงการ "ก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19" ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ทั้ง 9 แห่ง ธนาคารออมสินได้กำหนดแนวทางเยียวยา ฟื้นฟู ส่งเสริมสร้างอาชีพ คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยแนวคิด คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน ผ่าน 4 กระบวนการ คือ
กระบวนการที่ 1 เยียวยา : จะดำเนินการหลังจากการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนสิ้นสุด ด้วยการพักชำระหนี้ต่อเนื่องอีก 2 ปี โดยให้เลือกชำระดอกเบี้ย 50-100% ได้ตามความสามารถ และยังคืนดอกเบี้ยให้อีก 20% (Cash Back) กรณีผ่อนชำระดีต่อเนื่อง รวมถึงขยายระยะเวลาผ่อนชำระออกไป
นอกจากนี้ยังตั้งทีมคลินิกคลังสมอง หมอคลัง "เราไม่ทิ้งกัน" บริการด้วยระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ และทางเพจเฟซบุ๊ก GSB Society ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลกับเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน เพื่อรับเรื่องเยียวยา ให้คำปรึกษากับประชาชนอย่างครอบคลุม
กระบวนการที่ 2 การคืนอาชีพ : ธนาคารออมสินได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ มหาวิทยาลัยประชาชน สร้างงานชุมชน โครงการช่างประชารัฐ ให้ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ผ่านเครือข่ายพันธมิตร รวมถึงมีการจัด "ตลาดนัดเราไม่ทิ้งกัน" ทั่วประเทศ
กระบวนการที่ 3 คืนความสุข : ธนาคารออมสินได้ร่วมกับชุมชนต่าง ๆ ดำเนินการ "ตู้คลังออมสินปันสุข" ทุกชุมชน นำร่องจัดทำไปแล้วในหลายพื้นที่ และต่อไปจะดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม "ออมสินดูแล ห่วงใย ไม่ทิ้งกัน"
กระบวนการที่ 4 ฟื้นฟูรายได้ : ด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาผ่อนนาน จำนวน 4 ประเภท วงเงินสินเชื่อประเภทละ 10,000 ล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท ได้แก่
1. สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ
2. สินเชื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่
3. สินเชื่อคลายกังวล
4. สินเชื่อซอฟต์โลน เยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก และธุรกิจท่องเที่ยว
ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารออมสิน