"นายกสมาคมประมงกันตัง" ตอบโต้ไม่ได้ทำลายล้างปลาทูไทย
9 ก.ค. 2562, 14:16
จากกรณีที่สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมรักษ์ทะเลไทย และเครือข่ายประมงพื้นบ้านในพื้นที่ภาคใต้ ได้จัดประชุมหารือสถานการณ์ปลาทูไทย ซึ่ง นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้ออกมาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า เรืออวนลาก และเรือพาณิชย์ เป็นตัวการสำคัญในการทำลายล้างปลาทูไทย โดยเฉพาะเรืออวนลาก แผ่นตะเฆ่ ซึ่งมีอยู่ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มากที่สุดนั้น
นายสฤษพัฒน์ ภมรวิศิษย์ นายกสมาคมประมงกันตัง จังหวัดตรัง ได้ออกมาตอบโต้ว่า ทั้งข้อมูลและรูปภาพที่คุณบรรจง นำมาโพสต์นั้น ล้วนแต่เป็นเท็จทั้งสิ้น นับตั้งแต่ข้อมูลเรือประมงพาณิชย์ของจังหวัดตรัง ที่เป็นสมาชิกสมาคมประมงกันตัง ซึ่งคุณบรรจง ระบุว่า มีเรืออวนลาก แผ่นตะเฆ่ 170 ลำ จาก 6 ผู้ประกอบการ แต่ในความเป็นจริงกลับมีแค่ 139 ลำ จาก 60 ผู้ประกอบการ
ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยแจ้งเข้าออกเรือประมงจังหวัดตรัง ช่วงระหว่างเดือน เม.ย. - มิ.ย.62 ก็ระบุว่า มีเรืออวนลาก แผ่นตะเฆ่ 130 ลำ โดยเป็นเรือขออนุญาติจากในจังหวัดตรัง 119 ลำ และมาจากจังหวัดอื่น 11 ลำ นอกจากนั้น เมื่อสอบถามไปยังเจ้าของเรือที่เป็นสมาชิกสมาคมประมงกันตัง ยับพบว่า ข้อมูลที่ คุณบรรจง อ้างถึงผู้ประกอบการแล้วนำมาโพสต์ก็คลาดเคลื่อนกว่าความเป็นจริง อาทิ ระบุว่า บางรายมีเรืออวนลาก แผ่นตะเฆ่ 52 ลำ ทั้งที่ความจริงมีแค่ 2 ลำ หรือบางรายไม่มีเรือ หรือไม่ทำธุรกิจนี้แล้ว ดังนั้น ข้อมูลต่างๆ จึงเป็นเท็จทั้งสิ้น
ส่วนรูปภาพประกอบเรื่องต่างๆ ในเฟซบุ๊ก คุณบรรจง ก็เอาภาพเก่าๆ มาโพสต์ใช้ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หรือบางภาพก็มีการตัดแต่งจากภาพเดิมแล้วเอามาใช้ใหม่ วนไปวนมา เพื่อหวังดิสเครดิตประมงพาณิชย์ ทั้งที่ล่าสุดหลังประมงพาณิชย์ปลดล็อคใบเหลืองแล้ว ได้มีการพัฒนาในด้านต่างๆ มากขึ้นจนสู่ระดับสากล เช่น มีระบบตรวจสอบที่แน่นอน หรือปลาทูตัวที่ขึ้นมาสามารถตรวจสอบได้ ทั้งแหล่งที่มา ขึ้นท่าที่ไหน ใครซื้อ เอาไปไหน
สำหรับสาเหตุที่ คุณบรรจง ทำแบบนี้ นายกสมาคมประมงกันตัง มองว่า คงเพราะต้องการสร้างเครดิตให้กับตัวเองว่า เป็นนักอนุรักษ์ แต่จริงๆ แล้วถ้าต้องจะอนุรักษ์ ก็ควรไปกระตุ้นประมงพื้นบ้าน ให้มาขึ้นทะเบียน หรือเข้าระบบให้ถูกต้อง เพราะขณะนี้มีจำนวนที่ไม่นอน หรือมีการต่อเรือใหม่เพิ่มอีก ทั้งที่มีคำสั่งห้ามจาก คสช. ซึ่งการออกมาให้ข่าวอย่างนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อประมงพาณิชย์ และยังคงทำให้ถูกมองว่าเป็นพวกทำลายล้าง ทั้งที่ความเป็นจริงประมงพาณิชย์ได้เปลี่ยนหรือพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีอย่างรวดเร็วตั้งนานแล้ว
ที่สำคัญก็คือ ในช่วงนับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2562 ซึ่งประเทศไทยโดนใบเหลือง ทำให้มีเรือประมงพาณิชย์เดิมๆ หายไปมากกว่า 60 % แต่ทำไมสถานการณ์ปลาทูไทยจึงแย่ลง หรือไม่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเสียทีในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่วงจรชีวิตในการเจริญเติบโตของปลาทูก็ค่อนข้างสั้น ไม่ต้องรอถึง 10 ปี เหมือนกับปลาบางชนิดถึงจะขยายพันธุ์ได้ ซึ่งเรื่องนี้ คุณบรรจง ก็รู้ดี แต่กลับเลือกที่จะพูดชี้นำในทางที่ผิด